รัฐสภา 7 ก.ค.-สนช.อนุมัติ พ.ร.ก.การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 เป็นพระราชบัญญัติ โดยรัฐบาลยืนยันเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมงทั้งระบบ แก้ปัญหาให้เป็นมาตรฐานสากลและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (7 ก.ค.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณา พ.ร.ก.การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงหลักการเหตุผลและสาระสำคัญว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ.2558 ที่ขาดมาตรการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย โดยได้ปรับปรุงบทนิยามคำว่าประมงพาณิชย์ เรือประมงให้สามารถจำแนกประเภทเรือประมงให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้นายทุนใช้ช่องต่อเรือประมงพื้นบ้านออกทำการประมง เพื่อเลี่ยงข้อจำกัดทำประมงพาณิชย์ อีกทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์ ให้เรือประมงพื้นบ้านสามารถออกไปทำการประมงในทะเลนอกชายฝั่ง หรือนอกเขตระยะ 3 ไมล์ทะเล ไม่ให้ถูกจำกัดสิทธิในการทำประมงเฉพาะเขตระยะใกล้ฝั่งเท่านั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มประมงพื้นบ้าน และออกใบอนุญาตประมงพื้นบ้านให้สอดคล้องกับปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่จะสามารถทำประมงได้อย่างยั่งยืน
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการสั่งหยุดประกอบกิจการหรือปิดโรงงานที่ประกอบกิจการสัตว์น้ำที่ตรวจพบว่าใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน โดยเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงแก้ไขในระหว่างต่อใบอนุญาต หรือแก้ไขรายการในใบอนุญาต จากเดิมต้องหยุดหรือปิดกิจการทันที พร้อมกำหนดให้โอนใบอนุญาตทำการประมงไปพร้อมกับเรือประมงที่ขายไปได้ กำหนดให้สามารถผ่อนผันแนวทางในการจัดการกับเครื่องมือทำประมงผิดกฎหมาย ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังทำประมงและขนถ่ายสัตว์น้ำให้ชัดเจน กำหนดหลักเกณฑ์ไม่ให้รับคนประจำเรือจากเรือลำอื่นมาทำงานในเรือประมงระหว่างออกไปทำการประมงเพื่อไม่ให้คนประจำเรืออยู่ในทะเลนานและป้องกันปัญหาค้ามนุษย์ อีกทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการนำเข้าสัตว์น้ำ และการเข้าเทียบท่าของเรือประมงที่ไม่ใช่ประมงไทย รวมถึงการนำเรือที่ไม่มีสัตว์น้ำเข้ามาด้วย เพราะมีการนำเรือผิดกฎหมายที่ไม่ใช่เรือไทยเข้ามา เช่น นำเรือมาซ่อม กำหนดให้มีคณะกรรมการมาตรการทางการปกครองทำหน้าที่แทนอธิบดีกรมประมง เพื่อให้ใช้มาตรการปกครองรวดเร็วรัดกุม กำหนดหลักเกณฑ์คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ทำงานสุจริต ทั้งนี้ขั้นตอนการแก้ไขได้จัดรับฟังความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว
“การปรับปรุงกฎหมายนี้ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ แก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่าการแก้ไขครั้งนี้จะทำให้ข้อขัดข้องของการทำงานของเจ้าหน้าที่และผลกระทบที่เกิดกับประชาชนลดน้อยลง และยืนยันว่าไม่ได้ทำให้มาตรการการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายที่ดำเนินอยู่ได้รับผลกระทบ” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้สมาชิก สนช.อภิปรายแสดงความเห็นด้วยในการปรับปรุงกฎหมายนี้ แต่เป็นห่วงเรื่องขาดแคลนแรงงานประมง ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย รับไว้ไปพิจารณา ยืนยันที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการแก้ไขมาโดยตลอด โดยเห็นว่าต้องมีการสร้างแรงจูงใจด้วยการเพิ่มสวัสดิการ
ทั้งนี้ที่สุดแล้วที่ประชุม สนช.ลงมติเอกฉันท์ 200 เสียง งดออกเสียง 4 อนุมัติ พ.ร.ก.การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ให้มีผลบังคับใช้เป็นพระราชบัญญัติต่อไป.-สำนักข่าวไทย