กรุงเทพฯ 5 ต.ค.-ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ฝาก 7 ข้อเสนอถึง รมว.เกษตรฯ ดันตั้ง กรอ.กษ. หวังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจเกษตรและอาหารไทย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าพบและหารือกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง และยื่นข้อเสนอภาคเอกชนในการยกระดับภาคเกษตรและอาหารของประเทศ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายสนั่น กล่าวภายหลังการหารือว่า ได้นำเสนอประเด็นต่างๆ ของภาคเอกชนต่อการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรของประเทศไทย ทั้งนี้ หอการค้าฯ ต้องขอขอบคุณท่านฯ ที่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว และเดินหน้าพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ขณะที่หอการค้าฯ ยืนยันการทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ไทยมีความพร้อมที่จะยกระดับภาคเกษตรไปสู่มูลค่าสูงได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการส่งเสริมบทบาทของเกษตรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดและขยายผลไปในแต่ละจังหวัด ซึ่งภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนแหล่งเงินทุน มาตรการลดต้นทุนภาคการเกษตร และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ซ้ำซาก อย่างเป็นระบบ ขณะที่หอการค้าฯ และภาคเอกชน พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม วันนี้ ประเทศไทยมีจุดเด่นและความพร้อมพื้นฐานด้านการเกษตร ทั้งในเชิงปริมาณพื้นที่เพาะปลูก จำนวนเกษตรกร สภาพภูมิอากาศ แต่ขณะเดียวกัน มูลค่าการส่งออกและรายได้ของเกษตรกรยังไม่เพิ่มสูงเท่าที่ควร ดังนั้น ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ถึงแม้จะมีพื้นที่เล็กกว่าไทยถึง 12 เท่า แต่สามารถสร้างรายได้ในภาคเกษตรต่อประชากรสูงกว่าไทยถึง 10 เท่า นี่จึงถือเป็นโอกาสที่ไทยต้องเรียนรู้รูปแบบการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีและงานวิจัยต่อยอดผลผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง ซึ่งส่วนนี้หอการค้าฯ พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งในอนาคตหากสามารถยกระดับการทำเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม เกษตรกรกว่า 27 ล้านคน ที่ถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจะมีรายได้สูงขึ้น เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และสามารถลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง นายสนั่น กล่าว
นอกจากนี้ หอการค้าไทยได้ขอให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน หรือ กรอ.กษ. ซึ่งจะช่วยสร้างความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และมีความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด รวมถึงยื่นข้อเสนอแนะเร่งด่วนของธุรกิจเกษตรและอาหาร ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อร่วมขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาผ่านคณะกรรมการ กรอ.กษ
ทั้งนี้ มีข้อเสนอใน 7 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
1) การส่งเสริมความมั่นคงและความยั่งยืนด้านอาหาร (Food Safety and Food Security) ซึ่งภาคเกษตรเป็นส่วนสำคัญที่มีการขับเคลื่อนในเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ APEC โดยการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคได้เห็นชอบในการผลักดันให้ดำเนินงานส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเปค รวมถึงการหารือเกี่ยวกับนโยบายแนวทางในการรับมือกับประเด็นท้าทายด้านความมั่นคงอาหาร ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) ซึ่งหอการค้าฯ ยินดีร่วมขับเคลื่อนนโยบาย 3S ได้แก่ Safety, Security และ Sustainability เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยอาหารให้ได้มาตรฐานสากล ตลอดจนร่วมส่งเสริมการขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วย BCG Model เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า สินค้าเกษตรและอาหารของไทย มีผลผลิตที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพมาตรฐาน พร้อมเป็นครัวโลก
2) การรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางทะเล เสนอให้กระทรวงเกษตรฯ ประสานงานสมาคมการค้าและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อนและรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางทะเล ด้วยมาตรการป้องกันปัญหาการประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing ตลอดจนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อยกระดับอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ของประเทศไทยให้อยู่ในระดับ Tier 1 ในปี 2024
3) การสร้างความสมดุลภาคธุรกิจเกษตรและอาหาร เสนอให้กระทรวงเกษตรฯ กำหนดนโยบายเพื่อสร้างความสมดุลและเสถียรภาพการนำเข้า-ส่งออกภาคเกษตรและอาหาร ระหว่างเกษตรกร และผู้ประกอบการส่งออก เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนด้านเกษตรและอาหารของไทย
4) การส่งเสริมการสร้างเกษตรมูลค่าสูงผ่านการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ (Area-based) ซึ่งที่ผ่านมาหอการค้าฯ ได้มีการขับเคลื่อนเกษตรมูลค่าสูงที่ถือเป็นศักยภาพและโอกาสที่สำคัญของประเทศไทย โดยใช้จังหวัดเป็นผู้นำการขับเคลื่อนเนื่องจากมีความเข้าใจในศักยภาพของพื้นที่ โดยขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่องแล้ว 7 จังหวัด รวมถึงตั้งเป้าขยายพื้นที่จังหวัดเป้าหมายเพิ่มเติมอีก 5 จังหวัด ในปี 2567 ได้แก่ ชัยนาท เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี และพัทลุง
5) การส่งเสริมธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต เสนอให้ผลักดันการจัดทำระบบอาหารที่มีการกล่าวอ้างอาหารเชิงหน้าที่ (FFC Thailand) เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกระดับสามารถยืนยันการกล่าวอ้างเชิงสุขภาพด้วยเอกสารหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบออนไลน์ โดยครอบคลุมผลผลิตการเกษตร อาหารปรุงสด และอาหารท้องถิ่น เพื่อพัฒนาไปสู่การผลิตอาหารมูลค่าสูง พร้อมทั้งส่งเสริมนโยบายและขับเคลื่อนธนาคารอาหารของประเทศไทย (Cloud Food Bank) เพื่อความมั่นคงทางอาหาร
6) การส่งเสริมธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยหอการค้าไทย เสนอให้สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งปลอดโรค พร้อมทั้งสนับสนุนแนวทางส่งเสริมและลดภาระต้นทุนการเลี้ยงให้กับเกษตรกร รวมไปถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรม (Value Chain) ตลอดจนลดภาษีการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ พร้อมทั้งได้ให้กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมสินค้าเกษตร อาหาร ประมง และการอำนวยความสะดวกในการส่งออก-นำเข้า เพื่อการแก้ปัญหาวัตถุดิบภาคการประมงที่ไม่เพียงพอต่ออุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออก ควรมีการผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบสัตว์น้ำเพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าและส่งออก ซึ่งต้องไม่กระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงภายในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปกป้องสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ ปลากะพง ปลานิล และกุ้งก้ามกราม เป็นต้น
7) การส่งเสริมธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป เสนอให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งรัดยกระดับมาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์ไทย โดยเฉพาะกลุ่มโคเนื้อ แพะเนื้อ และแพะนม พร้อมทั้งเสนอให้เร่งรัดการเพิ่มจำนวนโรงฆ่าสัตว์ โรงตัดแต่งเนื้อสัตว์ โรงคัดบรรจุ ที่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practices) ทุกจังหวัดที่มีศักยภาพ ตลอดจนเร่งรัดปราบปรามผู้ลักลอบนำเข้าหรือส่งออกสินค้าปศุสัตว์อย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ร้านค้าสินค้าปศุสัตว์ (โดยเฉพาะตลาดสด) เข้าร่วมโครงการปศุสัตว์ OK เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าคุณภาพ และสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับแก่ผู้บริโภค เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย