รัฐสภา 5 ก.ค.-ประธานสนช.ย้ำ สนช.แก้ไขพ.ร.ก.ต่างด้าวไม่ได้ ทำได้แค่ให้ความเห็นชอบยกสถานะกม.ให้สมบูรณ์ ชี้ ม.44 ยังตามไปยกเว้น 4 มาตราจนถึง 1 ม.ค.61
คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนา เรื่อง “ร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ก้าวใหม่แห่งการปฏิรูปการปราบปรามการทุจริต” โดย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.กล่าวเปิดการสัมมนาว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้รับการขนานนามว่าเป็นฉบับปราบโกง ซึ่งภารกิจดังกล่าวคงหนีไม่พ้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเป็นที่ทราบกันดีว่าป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระที่มีความสำคัญมายาวนาน ไม่ว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหารกี่ครั้ง ป.ป.ช.ยังอยู่ยืนยง เพื่อดูแลปัญหาที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
“ต้องคิดกันว่าทำอย่างไร กระบวนการไต่สวนพิจารณาข้อร้องเรียน จึงจะมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าไม่ถือว่าเป็นความยุติธรรมที่แท้จริง ผมมองว่า ป.ป.ช. ต้องมีกระบวนการที่ให้ความเป็นธรรมต่อคนที่ถูกกลั่นแกล้ง เรื่องร้องเรียนที่ไม่มีสาระ ไม่มีข้อมูลเพียงพอ ต้องรีบดำเนินการให้รวดเร็ว หากจ้องแต่จะฟ้องอย่างเดียว คนสุจริตเขาก็เดือดร้อน เพราะเวลาฟ้องเป็นข่าว แต่เวลาระงับไปไม่เป็นข่าว ก็เกิดความเสียหาย” ประธานสนช. กล่าว
นายพรเพชร ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า อยากให้การทำงานของ ป.ป.ช. ฃและหน่วยงานอื่น ๆ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาล ตำรวจ และอัยการเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าไม่ถือว่าเป็นความยุติธรรม จึงควรพิจารณาอย่างรวดเร็ว และนำคนผิดมาลงโทษ เพื่อให้สังคมทราบว่ามีการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างแท้จริง
ส่วนกรณีที่กกต. มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ตรวจสอบการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 187 และมาตรา 170(5) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถือครองหุ้น ของ สนช. 90 คน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 264 วรรคสอง นายพรเพชร กล่าวว่า การถือหุ้นหรือสัมปทาน มีหลักกฎหมายจากคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญว่าความผิดนี้เป็นกรณีที่บุคคลนั้นมีหุ้นอยู่เดิมหรือก่อนรับตำแหน่ง หรือขายไปก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ จะไม่ถือว่าเป็นความผิดตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ
“แต่ถ้าระหว่างมีตำแหน่ง บุคคลนั้นไปได้หุ้นหรือซื้อหุ้นมา จะเป็นความผิด ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า 90 สนช.ถือหุ้นมาเมื่อใด จึงขอให้กกต.เร่งรัดการตรวจสอบด้วย เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และเพื่อนำคนผิดมาลงโทษให้ได้ ยืนยันว่าก่อนหน้านี้ได้อบรมสมาชิกเรื่องคุณสมบัติไปแล้ว จึงคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา” ประธานสนช. กล่าว
นายพรเพชร กล่าวถึงการพิจารณาพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่รัฐบาลเสนอมายังสนช. ในสัปดาห์นี้ว่า ตามรัฐธรรมนูญแล้ว สนช. ไม่สามารถปรับแก้ไขใด ๆ ได้ สนช.จะมีหน้าที่เพียงอภิปรายในประเด็นที่มีปัญหา และลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งการลงมติครั้งนี้ เพื่อให้พระราชกำหนดมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ ไม่ใช่เปลี่ยนจากพระราชกำหนดเป็นพระราชบัญญัติ ดังนั้น สนช.จึงมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบพระราชกำหนดเพื่อให้มีสถานะทางกฎหมายสมบูรณ์ขึ้น และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
“มาตรา 44 มีผลไปถึงวันที่ 1 มกราคม 2561 เพื่อยกเว้น 4 มาตราในพระราชกำหนดที่ให้ชะลอการบังคับใช้ไป ส่วนในอนาคตหากรัฐบาลต้องการแก้ไขพระราชกำหนด เป็นหน้าที่ของรัฐบาลดำเนินการ ทั้งการใช้คำสั่งมาตรา 44 หรือ การเสนอร่างร่างพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนด แต่หากต้องการให้ร่างนี้เป็นพระราชบัญญัติ รัฐบาลจะต้องยกเลิกพระราชกำหนดดังกล่าวเข้ามา และเสนอร่างพระราชบัญญัติขึ้นมาใหม่
นายพรเพชร กล่าวถึงกรอบเวลาการยื่นหนังสือโต้แย้งของกกต.และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า วันนี้ (5 ก.ค.) ถือเป็นวันครบกำหนดวันสุดท้ายการส่งข้อโต้แย้ง หากไม่มีฝ่ายใดส่งมา จะถือว่าให้เป็นไปตามที่สนช. ให้ความเห็นชอบ.-สำนักข่าวไทย