22 กันยายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
1.ทริเทียมในน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่บำบัดบัดแล้วมีปริมาณไม่เกิน 1,500 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ต่ำกว่าปริมาณทริเทียมที่ WHO แนะนำให้มีในน้ำดื่มอย่างมาก
2.ค่าครึ่งชีวิตทางชีวภาพของทริเทียมในมนุษย์และสัตว์น้ำมีเวลาที่สั้นมาก สามารถกำจัดออกจากร่างกายในเวลาไม่นาน
3.ทริเทียมในเกลือจะระเหยไปกับความชื้น จึงแทบไม่เหลืออยู่ในเกลือ
4.ไอโอดีนจากการบริโภคเกลือไม่เพียงพอต่อการป้องกันการดูดซับกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกาย การกินเกลือหรือไอโอดีนมากเกินจำเป็นกลับส่งผลเสียต่อสุขภาพ
5.มนุษย์ได้รับกัมมันตรังสีจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การตรวจสุขภาพ การเดินทางด้วยเครื่องบิน รวมถึงการกินอาหารทั่วไป
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยอ้างว่าไม่ควรกินอาหารทะเลหรือเกลือที่นำมาจากทะเลที่อยู่ใกล้กับบริเวณที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้ว เพราะกัมมันตรังสีทริเทียมที่อยู่ในทะเลจะตกค้างในอาหาร หากบริโภคอาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง แม้แต่การว่ายน้ำหรือสัมผัสฝนที่ปนเปื้อนทริเทียมก็เป็นอันตราย
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) องค์การส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ได้ตรวจสอบการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ยืนยันว่า ทริเทียม สารกัมมันตรังสีที่หลงเหลือจากกระบวนการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่ทะเล มีปริมาณไม่เกิน 1,500 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งน้อยกว่าปริมาณทริเทียมในน้ำดื่มที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำอย่างมาก โดย WHO กำหนดให้น้ำดื่มไม่ควรมีทริเทียมเกินกว่า 10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร
ค่าครึ่งชีวิตทางชีวภาพ
ทริเทียม เป็นสารกัมมันตรังสีที่พบได้ในธรรมชาติ มีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 12 ปี อย่างไรก็ดี ค่าครึ่งชีวิตทางชีวภาพของทริเทียมในร่างกายมนุษย์จะอยู่ที่ประมาณ 10 วัน หมายความว่าร่างกายสามารถกำจัดทริเทียมออกไปได้ในเวลาไม่กี่วัน นอกจากนี้ค่าครึ่งชีวิตทางชีวภาพของทริเทียมในสัตว์ทะเลก็มีระยะเวลาที่สั้นมาก
เฉินชิงเจียง รองศาสตราจารย์พิเศษ ภาควิชาการสร้างภาพทางการแพทย์และรังสีวิทยา มหาวิทยาลัยไอชู สาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน อธิบายว่า ทริเทียมไม่ใช่สารโลหะหนัก จึงสามารถขับออกจากร่างกายได้ในเวลาไม่นาน โดยสามารถขับออกจากร่างกายมนุษย์ในเวลา 8-10 วัน และขับออกจากตัวปลาในเวลาเพียง 2 วันเท่านั้น การบริโภคปลาที่อยู่ใกล้กับแหล่งปล่อยน้ำของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะจึงไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพแต่อย่างใด
สิ่งที่วงการวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญคือการสะสมทางชีววิทยาของสัตว์ทะเลจากการสัมผัสทริเทียมหรือ Organically Bound Tritium (OBT) ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่ามีสัตว์ทะเลที่แสดงสัญญาณของ OBT แต่อย่างใด
งานวิจัยเมื่อปี 2018 ที่ตรวจสอบปริมาณกัมมันตรังสีของสัตว์ทะเลใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ พบว่าสาหร่ายมีปริมาณกัมมันตรังสี 13.5 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม ส่วนปลาน้ำลึกมีปริมาณกัมมันตรังสีเพียง 1.6 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม แต่อย่างไรก็ดี ปริมาณกัมมันตรังสีที่ตรวจพบยังถือว่าน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานด้านความปลอดภัยทางอาหารของประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด
กระแสกักตุนเกลือ
ความกังวลต่อการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ยังนำไปสู่การกักตุนเกลือในสาธารณรัฐประชาชนจีน จากความเชื่อว่าเกลือจากน้ำทะเลที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีจะไม่ปลอดภัย
อย่างไรก็ดี ความเชื่อดังกล่าวเป็นการตื่นตระหนกเกินจริง เนื่องจากทริเทียมจะอยู่ในรูปของของเหลว การผลิตเกลือบริสุทธิ์ด้วยการทำให้น้ำทะเลระเหยออกไปจนหมด ทำให้เกลือบริสุทธิ์ไม่มีทริเทียมตกค้างอยู่
ส่วนเกลือสมุทรซึ่งมีความชื้นหลงเหลืออยู่ ก็มีปริมาณทริเทียมอยู่น้อยมาก ข้อมูลจากภาควิชาฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยตงไห่ สาธารณรัฐจีนหรือไต้หวัน เปรียบเทียบว่า การจะบริโภคเกลือสมุทรจนได้รับปริมาณทริเทียมเกินกว่าที่ WHO แนะนำในน้ำดื่ม คนหนึ่งคนจำเป็นต้องกินเกลือมากถึง 440 กิโลกรัมต่อวันเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อผิด ๆ ที่เผยแพร่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า สารไอโอดีนในเกลือ สามารถป้องกันการดูดซึมกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายได้
ข้อมูลจาก WHO ยืนยันว่าปริมาณสารไอโอดีนในเกลือไม่เพียงพอที่จะใช้ป้องกันการดูดซึมกัมมันตรังสีได้ นอกจากนี้การกินเกลือหรือได้รับไอโอดีนมากเกินจำเป็น กลับส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน
ทริเทียมในน้ำฝน
ยังมีความกังวลว่าการสัมผัสน้ำปนเปื้อนทริเทียมในทะเลโดยตรงหรือการสัมผัสทริเทียมที่ตกลงมากับน้ำฝน เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเช่นกัน
ส่วนความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากน้ำทะเลปนเปื้อนทริเทียมที่ผ่านการบำบัดแล้วไม่สามารถแทรกซึมผ่านผิวหนังได้ ส่วนสารทริเทียมในน้ำทะเลที่ระเหยและกลับมาตกเป็นน้ำฝน ก็มีปริมาณทริเทียมลดลงอย่างมาก การสัมผัสน้ำฝนเหล่านั้นก็ไม่เป็นอันตรายเช่นเดียวกัน
กัมมันตรังสีในชีวิตประจำวัน
ทุกวันนี้มนุษย์ต้องสัมผัสกัมมันตรังสีในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ ทั้งจากการเดินทางโดยเครื่องบิน การตรวจสุขภาพ และจากอาหารในแต่ละมื้อ
การผลิตพรายน้ำสำหรับแสงเรืองในที่มืด เช่น หน้าปัดนาฬิกาและสัญลักษณ์ทางเข้าออกในโรงภาพยนตร์ ต่างใช้ทริเทียมเป็นส่วนประกอบทั้งหมด
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พบว่าการกินกล้วยหนึ่งลูก จะได้ปริมาณกัมมันตรังสีที่ 0.1 ไมโครซีเวิร์ต ซึ่งมากกว่าปริมาณกัมมันตรังสีที่ผู้คนซึ่งอาศัยห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในรัศมี 80 กิโลเมตร จะได้รับตลอดทั้งปี หรือประมาณ 0.09 ไมโครซีเวิร์ต
ส่วนข้อมูลขององค์การ Nuclear Threat Initiative พบว่า การเข้ารับการตรวจด้วยเครื่อง CT scan แต่ละครั้ง ผู้ป่วยจะได้รับปริมาณกัมมันตรังสีประมาณ 10 ถึง 15 มิลลิซีเวิร์ต ซึ่งมากกว่าปริมาณกัมมันตรังสีจากการกินกล้วยหนึ่งลูกกว่า 100,000 เท่า
ข้อมูลอ้างอิง :
https://tfc-taiwan.org.tw/articles/9568
https://tfc-taiwan.org.tw/articles/9563
https://www.rfa.org/english/news/afcl/fact-check-fukushima-rumors-09062023123703.html
https://www.bbc.com/news/magazine-34225517
http://nkc.tint.or.th/nkc51/nkc5101/nkc5101w.html
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter