เจริญนคร 2 ก.ค. – กรมธนารักษ์เร่งทบทวนสัญญาสัมปทานเอกชน ลั่นพื้นที่ร้อยชักสามต้องสรุปเร็ว ๆ นี้ เพื่อพัฒนาเป็นสถานที่เชิงพาณิชย์
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า หลังจากกรมธนารักษ์เดินหน้าก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครบนที่ดินราชพัสดุ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในซอยเจริญนคร ความสูง 459 เมตร บนเนื้อที่ 4.2 ไร่ ดำเนินการก่อสร้างโดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครด้วยเงินลงทุน 4,621 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ และพัฒนาชุมชนบริเวณใกล้เคียงให้เจริญไปด้วย
สำหรับพื้นที่ราชพัสดุบริเวณใกล้เคียงที่สำคัญต้องนำกลับมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าและพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบ กรมธนารักษ์จึงเร่งทบทวนสัญญาสัมปทานกับภาคเอกชนรายล่าสุด เพื่อหาข้อสรุปในการพัฒนาให้ได้เร็ว ๆ นี้ เนื่องจากกรมธนารักษ์มีแผนเร่งรัดหลายโครงการลงทุนที่เคยมีปัญหาติดค้างแล้วไม่สามารถนำกลับมาพัฒนาได้มานานหลายปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการร้อยชักสามเดิมเป็นอาคาร “ศุลกสถาน” สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อประมาณปี 2433 เพื่อเป็นที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้าเรียกว่า “ภาษีร้อยชักสาม” ปัจจุบันมีสภาพอาคารเก่าแบบโบราณริมแม่น้ำเจ้าพระยาติดกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ธุรกิจย่านถนนเจิรญกรุง การบริหารโครงการร้อยชักสามพัฒนาโดยกลุ่มแนเชอรัลพาร์คและกลุ่มมาลีนนท์ มีสัญญาพัฒนาโครงการบนพื้นที่ 5 ไร่ ซอยเจริญกรุง 36 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ เพื่อบริหารที่ดินราชพัสดุให้มีมูลค่าสูงขึ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงมีแผนปรับปรุงซ่อมแซมอนุรักษ์อาคารโบราณสถาน เพื่อพัฒนาเป็นกิจการโรงแรมภายใต้ชื่อโครงการอามันรีสอร์ท กทม.มีการลงนามข้อตกลงเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 และสัญญาการเช่าพื้นที่ 30 ปี แต่ติดปัญหาสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนมานานหลายปี จากข้อพิพาทการโยกย้ายหน่วยงานดับเพลิงบางรัก สังกัดกรุงเทพฯ กับกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นหน่วยราชการด้วยกันเอง ขณะนี้รอสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาดในการนำพื้นที่กลับมาพัฒนาเชิงพาณิชย์. – สำนักข่าวไทย