กรุงเทพฯ 26 ส.ค. – อธิการบดี ม.หอการค้า ชี้นโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” กระตุ้นเศรษฐกิจได้ 3 รอบ สูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท แหล่งเงินขาดดุลงบไม่ต้องกู้เพิ่ม คาดเริ่มต้นปี 2567 จับตา “ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ถ้า “เศรษฐา” ควบ “รมว.คลัง” เชื่อสร้างผลงานเร็ว
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงนโยบาย “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ของพรรคเพื่อไทย ว่าเป็นนโยบายที่ออกปากจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเอง ขณะนี้สังคมกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องของการพูดว่าใครพูดอะไรแล้วต้องทำ ซึ่งเชื่อว่านโยบายนี้สามารถทำได้ และมีเงินเพียงพอ ทำได้แน่นอน โดยจะใช้เงินรวม 5 แสนล้านบาท เพราะใช้โครงสร้างงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท และใช้การขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท มาช่วยเสริม แต่อาจต้องชะลอโครงการบางโครงการออกไป ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงเรื่องหนี้สาธารณะนั้นมองว่าไม่น่าจะกระทบ เพราะสำนักงบประมาณ มีการวางกรอบการขาดดุลไว้ไม่เกิน 4% ซึ่งจากสถานะทางการเงินตอนนี้อาจจะขาดดุลงบเพิ่มได้อีกเล็กน้อย ไม่สูงเกินไป โดยขณะนี้เพดานหนี้สาธารณะ อยู่ที่ 60% แต่สามารถขยายได้ 70% ดังนั้นไม่ต้องกู้เพิ่ม ทั้งนี้อาจมีการพิจารณาเรื่องการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งส่วนนี้ไม่เพียงจะทำให้ได้เงินเพิ่ม 30,000-35,000 ล้านบาท แต่ยังจะได้ภาษีบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มในปีถัดไป
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจ 2-3 รอบ คิดเป็นมูลค่า 1-1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งคนได้เงินมาจะรีบใช้ คาดว่าน่าจะสามารถเริ่มใช้นโยบายนี้ได้ต้นปี 2567 โดยรัฐอาจออกแบบการใช้ แบ่งเป็นเฟส เช่น เฟสละ 3,000 บาท เพื่อกระจายให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำหนดเงื่อนไขให้ใช้ในการซื้อสินค้าไทย เพื่อให้เม็ดเงินกระจายในประเทศ จะทำให้เงินหมุนหลายรอบ หากไม่กำหนด ก็เสี่ยงจะรั่วไหลออกไปกับสินค้าต่างประเทศได้ ส่วนเงื่อนไขที่อาจเป็นอุปสรรค เช่น จะต้องใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน นั้น เชื่อว่ารัฐบาลจะออกข้อกำหนดเพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายได้
รศ.ดร. ธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมถึง ดรีมทีมเศรษฐกิจ ว่า สิ่งที่เราจะต้องเชื่อ การที่ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 คือนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งมีประสบการทำงานเชิงธุรกิจได้รับการยอมรับ ความสามารถในการบริหาร ประสบความสำเร็จ จากภาพรายชื่อทีมสะท้อนว่ารัฐบาลมีอำนาจพอสมควร และมีการคัดผู้บริหารงานระดับกระทรวงมาแล้วว่า ที่เชื่อว่าจะสามารถจะช่วยสร้างผลงานอย่างรวดเร็ว
สำหรับงานเร่งด่วนที่ต้องทำ คือ การโรดโชว์ เพื่อ เสริมสร้างความมั่นใจให้ต่างประเทศ การทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) การผลักดันตลาดใหม่ อย่างตะวันออกกลาง และการดึง ดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ทั้ง ตะวันออกกลาง เวียดนาม อินเดีย และรัสเซีย เข้ามาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น ส่วนมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์มองว่า รัฐบาลอาจจะใช้มาตรการได้หลายแบบ อาทิ การยกเลิกการจดทะเบียนการโอน หรืออาจจะใข้มาตรการผ่อนปรน LTV เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อระบายสตอก 60,000-80,000 ยูนิต ซึ่งจะใช้เงินงบฯไม่มาก และการที่ดอกเบี้ยไม่แพงจะมีส่วนช่วยเสริมให้ตลาดมีความคึกคักมากขึ้น
“การที่มีข่าวว่า นายกรัฐมนตรีจะรับหน้าที่ รมว.คลัง และเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจด้วยนั้น เพราะรัฐบาลเห็นว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด และตามข่าวคาดว่า รมช.คลัง อาจเป็นอดีตข้าราชการ ซึ่งจะมาช่วยเสริมในเรื่องกฎระเบียบ หากดูรูปแบบเอกชน ซีอีโอจะมอบให้ผู้บริหารระดับสูงทำงาน และยังทีมงานเพื่อไทยที่เคยมีประสบการณ์ เข้ามาช่วยอีกจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งมากขึ้น”-.สำนักข่าวไทย