กรุงเทพฯ 23 ส.ค. – ภาคเอกชนชี้โหวตได้นายกฯ ส่งผลดีต่อตลาดทุนระยะสั้น แต่ระยะยาวต้องนำปัญหาช่วงก่อนตั้งรัฐบาลมาเป็นบทเรียน จับตา “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” และนโยบายพรรคร่วม
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่า เมื่อมีความชัดเจนเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี ในระยะสั้นเป็นพัฒนาการที่ดีสำหรับตลาดการเงินและระบบเศรษฐกิจ ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นว่า กลไกการทำงานของภาครัฐสามารถเดินหน้าต่อไปได้ อาทิ เรื่องการจัดทำงบประมาณการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ในระยะต่อไปต้องนำปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการจัดตั้งรัฐบาลมาเป็นบทเรียนและปรับปรุงแก้ไข เช่น หลักนิติธรรม การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ความตรงไปตรงมา ความโปร่งใส เพื่อให้การบริหารประเทศต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งความคาดหวังของประชาชนขณะนี้ คือ ต้องการรัฐมนตรีที่มีความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต มาพัฒนาประเทศ
ส่วนเรื่องนโยบาย เข้าใจว่าการลงเลือกตั้งเป็นการแข่งขัน แต่ละพรรคจึงต้องหานโยบายที่เป็นที่สนใจของประชาชน เพื่อได้รับคะแนนเสียง แต่เวลานี้การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจต้องรักษาความเชื่อมั่น ไม่ควรทำอะไรที่จะเพิ่มความสงสัยต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพราะนักลงทุนจะห่วงเรื่องความเสี่ยง จึงต้องพยายามให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และอย่าไปซ้ำเติมให้แย่ลง ดังนั้น การทำประชานิยม ต้องไม่เกินความสามารถ ต้องดำรงความมีเสถียรภาพและความยั่งยืน อย่าคิดเฉพาะประโยชน์ระยะสั้น ควรคำนึงถึงระยะยาวด้วย มิเช่นนั้นอาจได้ไม่คุ้มเสีย แต่ทั้งนี้ จะต้องรอดูนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งการใช้งบประมาณและจังหวะเวลาที่เหมาะสม
ด้านนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า เมื่อวานนี้ (22 ส.ค.) หลังทราบผลโหวตนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เห็นความชัดเจนในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหลังจากนี้จะต้องจับตาเรื่องนโยบายต่างๆ ที่จะออกมาเป็นอย่างไร
ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า เมื่อการเมืองมีคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น ตลาดทุนก็เคลื่อนไหวในทิศทางที่ดี ส่วนตัวมองว่า การที่ได้นายกรัฐมนตรีมาจากภาคเอกชน ถือว่าถูกจังหวะเวลาพอดี เพราะในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามามาก จึงต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ดังนั้น การมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากภาคเอกชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะมีความเข้าใจภาคธุรกิจ ลำดับความสำคัญ การตัดสินใจเชิงธุรกิจ เพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังต้องต้องรอความชัดเจนเรื่องนโยบาย การจัดสรรกระทรวง และตัวรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การดำเนินนโยบาย เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมฯ 11 พรรค และมีนโยบายที่แตกต่างกัน จึงต้องรอข้อสรุปว่า นโยบายที่จะขับเคลื่อนประกอบด้วยอะไรบ้าง กระทรวงไหนจะเป็นของพรรคใด และการประสานงานระหว่างพรรคจะทำได้อย่างมีเสถียรภาพหรือไม่
ส่วนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ที่หลายคนจับตามอง ต้องรอดูความชัดเจนว่าจะดำเนินการได้แค่ไหน อย่างไร แต่เศรษฐกิจประเทศไทยต้องการการกระตุ้นบ้างในช่วงต้นปีหน้า หากมีมาตรการที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้ ต้องดูความเหมาะสมว่า เงินที่เรามีจะนำไปกระตุ้นส่วนไหน อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรอรัฐบาลตัดสินใจ ขณะที่ตลาดทุนเองก็เตรียมนโยบายต่างๆ ที่จะนำไปหารือกับรัฐบาลเหมือนกัน รวมถึงเรื่องการขับเคลื่อนตลาดทุนไทย และการแก้ปัญหาหลอกลงทุน.-สำนักข่าวไทย