กรุงเทพฯ 26 มิ.ย. – สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยเผยหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ขณะที่คนอายุน้อยเริ่มทำงานเป็นหนี้เอ็นพีแอลสูงสุด
นางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และ น.ส.อัจนา ล่ำซำ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการวิจัยมุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทย ว่า ไตรมาส 3 ปี 2559 พบว่าไทยมีหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 71.2 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย รองจากออสเตรเลียอันดับ 1 อยู่ที่ร้อยละ 123 และเกาหลีใต้อันดับ 2 อยู่ที่ร้อยละ 91.6 โดย 1 ใน 3 ของประชากรไทยทั้งหมด 69 ล้านคนเป็นหนี้ในระบบ ค่าเฉลี่ยหนี้ต่อคนอยู่ที่ 150,000 บาท ซึ่งในจำนวนนี้ไม่รวมหนี้เพื่อการศึกษา หนี้จากสหกรณ์ และหนี้นอกระบบ
นอกจากนี้ จำนวนคนมีหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2552 และมีปริมาณหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และร้อยละ 50 ของคนเริ่มทำงานจะเป็นหนี้ นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยวัยเกษียณอายุ 60-80 ปีแล้วหนี้ก็ยังไม่ลดลง เป็นหนี้ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุดร้อยละ 17 สินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตร้อยละ 9 และสินเชื่อบ้าน ร้อยละ 4
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่ากลุ่มคนอายุน้อยที่อยู่ในวัยเริ่มทำงานเป็นกลุ่มที่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สูงที่สุด โดย 1 ใน 5 ของผู้กู้ 19.3 ล้านคน ที่อายุ 29 ปีมีหนี้เสีย อาจเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้ หากคนกลุ่มวัยทำงานเป็นหนี้เร็วและเป็นหนี้เสียเร็วโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลจะทำให้ในอนาคตการกู้สินเชื่อประเภทอื่น เช่น บ้าน รถยนต์ ฯลฯ ยากขึ้น เพราะเครดิตเสียไปแล้วจะกู้ยาก.-สำนักข่าวไทย