กรุงเทพฯ 13 ก.ค. -หอการค้าไทย คาดโหวตเลือกนายกฯ จัดตั้งรัฐบาลช่วง ส.ค.-ก.ย. ระบุประท้วงรุนแรงยืดเยื้อกระทบรายได้ท่องเที่ยว หายไป 5 แสนล้านบาท ดึง GDP ลดร้อยละ1
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้ต้องรอลุ้นว่า จะมีการลงมติโหวตเลือกหรือไม่ เพราะเป็นตัวชี้วัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากผลสำรวจนักธุรกิจ ต่างกังวลการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ หากลากยาวนานออกไป จะไม่มีรัฐมนตรีตัวจริงขับเคลื่อนนโยบายใหม่ฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งนักธุรกิจและผู้บริโภค ต่างจับตาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะสรุปในวันนี้ หรือต้องโหวตเลือกอีกหลายสูตรในวันถัดไป
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่า การจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสูตรไหน ใครเป็นนายกรัฐมนตรี หากจัดตั้งรัฐาลได้ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 66 นี้ ถือว่ากระทบต่อเศรษฐกิจน้อย คงจะไม่รุนแรง เพราะถือว่ายังอยู่ในกรอบ สามารถเดินหน้างบลงทุนต่างๆ โดยใช้กรอบงบผูกพันเดิม ส่วนการใช้งบประมาณปี 67 อาจถูกเลื่อนออกไปเบิกจ่ายได้เดือนมีนาคมปี 67 จะทำให้ภาคธุรกิจวางแผนลงทุนได้ แต่หากจัดตั้งรัฐบาลยือเยื้อ ออกไปเลยเดือนตุลาคม ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ อาจเลื่อนออกไปช่วงไตรมาส 2 ปี2567 ยอมรับ กระทบการขยายตัวเศรษฐกิจวงกว้าง จึงอยากให้ องค์กรปกครองท้องถิ่น เดินหน้าโครงการเดิม และส่วนราชการใช้งบคุรุภัณฑ์จัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เงินออกสู่ระบบ
นายธนวรรธน์ประเมินว่า หากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีราบรื่น จัดตั้งรัฐบาล เพื่อออกมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันการลงทุน โดยไม่มีความรุนแรง เศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อยละ 4 แต่หากการคัดเลือก นายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มีการประท้วงรุนแรง ต่างชาติประกาศเตือนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย จากเดิมคาดยอดนักท่องเที่ยว30 ล้านคน หากครึ่งปีหลัง นักท่องเที่ยวหายไป 10 ล้านคน ยอมรับว่าทำให้รายได้ท่องเที่ยวหดหายไป 5 แสนล้านบาท กระทบต่อจีดีพีถึงร้อยละ 1 ซึ่งไม่อยากให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น
สำหรับผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2566 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 56.7 จากระดับ 55.7 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม2563 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ในระดับ 63.9 จากระดับ 63.1 ปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อยเนื่องจาก ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง รวมถึงค่าครองชีพยังแพง .-สำนักข่าวไทย