กรุงเทพฯ 10 ก.ค.- ปตท.เพิ่มธุรกิจสีเขียวเล็งเล็งเพิ่มพลังงานทดแทน ทั้งโรงไฟฟ้า และโครงการกรีนไฮโดรเจน ชี้ต้นทุนผลิตในไทยยังสูงกว่านำเข้า หวังรัฐบาลใหม่จัดทำแพ็คเกจ อุดหนุนกรีนไฮโดรเจน ปลายปีนี้ชัดเจนร่วมทุนกฟผ.-ซาอุฯเดินหน้าโครงการหรือไม่
นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าการลงทุนโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (Derivatives) ที่ศึกษาร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และบริษัท บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) จากซาอุดีอาระเบียว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาเบื้องต้น โดยยอมรับว่าประเทศไทยมีความเข้มของแสงแดดไม่มากเหมือนซาอุฯ ทำให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนสูง เมื่อนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม มาแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำ โดยไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต ทำให้ได้ไฮโดรเจนสีเขียว ที่มีต้นทุนสูงกว่า 6-7 เหรียญสหรัฐ/กิโลไฮโดรเจน หรือสูงกว่าราคานำเข้า โครงการนี้ กฟผ. ร่วมจัดหาพื้นที่ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องพิจารณาต้นทุนไปได้หรือไม่ หลังจากนั้นก็จะศึกษาขั้นละเอียด เพื่อสรุปว่าแข่งขันกับตลาดได้หรือไม่และลูกค้าคือใคร อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ ภาครัฐก็ต้องเข้ามาสนับสนุนด้วยแพคเกจที่เหมาะสม ซึ่งทาง ปตท.ก็อยู่ระหว่างหารือกับภาครัฐ
“หลายประเทศผลักดันให้เกิดโครงการไฮโดรเจนสีเขียวขึ้น ภาครัฐ มีการสนับสนุนการลงทุน ด้วยภาษีและอื่นๆ บางประเทศอุดหนุนระยะยาวมากกว่า5-10ปี โดยในส่วนของไทยหากจะเกิดขึ้นได้รัฐก็ต้องอุดหนุนและทำให้ต้นทุนการผลิตกรีนไฮโดรเจนต่ำกว่าการนำเข้าที่ 6-7 เหรียญสหรัฐ/กิโลไฮโดรเจน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นกับนโยบายรัฐว่าจะสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างไร คาดว่าผลการศึกษาจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้”นายเชิดชัย กล่าว
ทั้งนี้ ปตท. และ กฟผ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาและลงทุนในโครงการไฮโดรเจนสีเขียว และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) เพื่อตอบสนองการใช้พลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงโอกาสการส่งออกไปยังภูมิภาคใกล้เคียง โดยมีเป้าหมายผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยประมาณ 2.25 แสนตันต่อปี หรือเทียบเท่ากรีนแอมโมเนีย 1.2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 252,000 ล้านบาท
นายเชิดชัย กล่าวต่อไปว่า ปตท.มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นกว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนดว่าในปี 2573 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 12,000 เมกะวัตต์ หรือ12 กิกะวัตต์(GW) และไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทConventional (ก๊าซธรรมชาติ,น้ำมัน) 8,000 เมกะวัตต์หรือ8 กิกะวัตต์
โดยล่าสุด คณะกรรมการบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ได้อนุมัติขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจในบริษัท Avaada Energy Private Limited (AEPL) ให้ครอบคลุมธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่(BESS) และอนุมัติการชำระหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 42.93 ใน AEPL ผ่านบริษัทย่อยที่ GPSC ถือหุ้น100% คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 19,167 ล้านรูปีอินเดีย หรือประมาณ 8,625 ล้านบาท โดยจะชำระเงินเพิ่มทุนครั้งแรกช่วงกรกฎาคมนี้ราว 8,649 ล้านรูปีอินเดีย หรือประมาณ 3,892 ล้านบาท
ซึ่งการเข้าลงทุนในหุ้นเพิ่มทุน AEPL เพื่อสนับสนุนการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและแสวงหาโอกาสเพิ่มเติมในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานรูปแบบผสมผสานระบบกักเก็บพลังงาน สอดคล้องการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดีย และเป้าหมายของกลุ่มปตท.
สำหรับกรีนไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสีเขียว ลดภาวะโลกร้อน นำไปใช้ทั้งภาคอุตสาหกรรม และใช้เป็นเชื้อเพลิงยานยนต์ โดยเกาหลีใต้ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ภาครัฐสนับสนุนอย่างเต็มที่ด้านเช่น การลดอัตราภาษี และการสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งรวมถึงหลักประกันการชําระหนี้ การส่งเสริมผลิตรถยนต์ การจัดตั้งถานีชาร์จไฮโดรเจนและอื่นๆ โดยตั้งเป้าพัฒนาเศรษฐกิจไฮโดรเจน สู่การใช้พลังงาน green hydrogen 100% ภายในปี ค.ศ. 2050 .-สำนักข่าวไทย