08 กรกฎาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
- พบหลักฐานการรายงานข่าวและโฆษณาที่ยืนยันว่าบริษัท White Star Line มีความพยายามให้ผู้คนเชื่อว่าเรือ Titanic ไม่มีวันจม
- แต่กระนั้น เรือ Titanic ยังห่างไกลกับฉายาเรือที่ไม่มีวันจม เนื่องจากเป็นเรือที่เน้นความหรูหราและกว้างขวาง จนมองข้ามการออกแบบเรือเพื่อเน้นความปลอดภัย
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
ประเด็นที่ทำให้โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเรือ Titanic เป็นที่โจษจันอย่างมาก เนื่องจากเป็นอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตคนบนเรือไปกว่า 1,500 ราย เกิดขึ้นกับเรือที่มีฉายาว่า “เรือที่ไม่มีวันจม” หรือ Unsinkable
จนเกิดคำถามว่า จริง ๆ แล้ว เรือ Titanic เคยถูกนิยมว่าเป็น “เรือที่ไม่มีวันจม” หรือไม่
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ครั้งแรกที่สาธารณชนรู้จักฉายา “เรือที่ไม่มีวันจม” ของเรือ Titanic มาจากรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1912 เมื่อคำว่า Unsinkable ถูกใช้ประกอบพาดหัวข่าวเหตุอับปางของเรือ Titanic อย่างแพร่หลาย
ส่วนการเอ่ยถึงฉายา Unsinkable ในหลาย ๆ ฉากของภาพยนตร์ปี 1997 เรื่อง Titanic ของผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน ก็ทำให้ฉายา “เรือที่ไม่มีวันจม” ของ Titanic เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก
มีความพยายามอ้างว่า ฉายา “เรือที่ไม่มีวันจม” ของ Titanic แท้จริงแล้วเป็นเพียงความเชื่อของสาธารณชน เพราะจริง ๆ แล้วจุดเด่นที่ใช้ในการโพรโมตเรือ Titanic มีเพียงแค่ความโอ่โถงและความหรูหรา ไม่ใช่ความโดดเด่นเรื่องความปลอดภัยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี มีการค้นพบว่าในช่วงปี 1911 หรือ 1 ปีก่อนการเดินเรือของ Titanic หนังสือพิมพ์อย่าง Irish News, Belfast Morning News และ Shipbuilder ซึ่งไปทำข่าวการต่อเรือ Titanic ต่างรายงานไปในทิศทางเดียวกันว่า เทคโนโลยีควบคุมบานกั้นน้ำของเรือทั้งลำอย่างทันท่วงทีด้วยสวิตช์ไฟฟ้า ทำให้เรือลำนี้แทบจะไม่มีวันจม (Practically Unsinkable)
นิตยสาร The Titanic Commutator ของสมาคม Titanic Historical Society ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 1993 พบหลักฐานใบปลิวของบริษัท White Star Line สายการเดินเรือของอังกฤษและเจ้าของเรือ Titanic ที่โฆษณาด้วยข้อความว่า เรือ Olympic และ Titanic ถูกออกแบบมาให้ “ไม่มีวันจม” (these two wonderful vessels are designed to be unsinkable)
วอลเตอร์ ลอร์ด นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของงานประพันธ์ปี 1955 เรื่อง A Night to Remember นิยายย้อนรอยเหตุอับปางของเรือ Titanic เคยให้ความเห็นว่า ความเชื่อว่าเรือ Titanic ไม่มีวันจม มาจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อเทคโนโลยีการต่อเรือในยุคนั้น
“ความเชื่อมั่นเกินจริง”
แม้ Harland & Wolff บริษัทต่อเรือ Olympic-class ocean liner ทั้ง 3 ลำอย่าง Olympic, Titanic และ Britannic ไม่เคยอ้างว่าเรือของตนไม่มีวันจม แต่แผนการโฆษณาพร้อมกับแนวคิด “เรือที่ไม่มีวันจม” ของ White Star Line ส่งผลต่อความเชื่อมั่นเกินจริงทั้งต่อสาธารณชนและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิท กัปตันเรือ Titanic เคยแสดงความมั่นใจที่มีต่อเรือ Adriatic เรือเดินสมุทรของบริษัท White Star Line อีกลำที่ตนเองเคยทำหน้าที่กัปตันเรือว่า “ข้าพเจ้าไม่สามารถจินตนาการสถานการณ์ที่จะทำให้เรือลำนี้จมลงได้ และมองไม่เห็นว่าจะมีหายนะใด ๆ เกิดขึ้นกับเรือ เทคโนโลยีการต่อเรือสมัยใหม่ก้าวล้ำไปไกลมากแล้ว”
ไม่ต่างจากความเชื่อของ ฟิลลิป เอ. เอส. แฟรงคลิน รองประธานบริษัท IMMC บริษัทแม่ของ White Star Line ที่ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ New York Times เมื่อได้รับข่าวการอับปางของเรือ Titanic ว่า “เรามีความเชื่อมั่นต่อ Titanic อย่างเต็มเปี่ยม เราเชื่อว่าเรือลำนี้จะไม่มีวันจม”
“โครงสร้างเรือที่ไม่มีวันจม”
แม้ฉายา “เรือที่ไม่มีวันจม” จะเป็นสิ่งที่ผู้คนมอบให้เรือ Titanic แต่หากพิจารณามาตรฐานความปลอดภัยของเรือ Titanic แล้ว Titanic ยังห่างไกลจากคำว่า “เรือที่ไม่มีวันจม” อย่างมาก
Titanic ถูกสร้างบนแนวคิดการเนรมิตเรือสำราญที่หรูหราและโอ่โถง เพิ่มพื้นที่ใช้สอยสำหรับผู้โดยสาร เพิ่มพื้นที่จัดเก็บโกดังสินค้า และเพิ่มพื้นที่ปฏิบัติงานสำหรับลูกเรือ
แต่แนวคิดดังกล่าว ส่งผลต่อการออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง
โครงสร้างเรือ Titanic เป็นแบบ Double Bottom หรือการออกแบบท้องเรือสองชั้น เพื่อป้องกันการกระแทกตัวเรือจากด้านล่าง ไม่ใช่แบบ Double Hull หรือการออกแบบตัวเรือสองชั้น เพื่อป้องกันการกระแทกตัวเรือทั้งจากด้านล่างและด้านข้าง
เรือ Titanic แบ่งห้องกั้นนํ้าออกเป็น 16 ห้อง มีบานกั้นน้ำ 15 บานทำงานด้วยระบบไฮดรอลิก เพื่อจำกัดความเสียหาย ไม่ให้น้ำทะเลจากภายนอกไหลจากห้องกั้นนํ้าห้องหนึ่งไปยังห้องกั้นนํ้าอีกห้องหนึ่ง
เรือ Titanic ออกแบบให้ยังสามารถลอยตัวอยู่ได้ หากห้องกั้นนํ้าท่วมไม่เกิน 4 ห้อง แต่อุบัติเหตุชนภูเขาน้ำแข็งครั้งนั้น ทำให้น้ำทะเลท่วมห้องกั้นนํ้าจำนวน 5 ห้อง นำไปสู่การอับปางของเรือในที่สุด
มีการนำสถานการณ์ของเรือ Titanic ไปเทียบกับ Great Eastern เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างในปี 1858 และประสบอุบัติเหตุในปี 1962 จากการชนซากหินใต้ทะเลบริเวณด้านข้างเรือ จนเกิดความเสียหายเป็นแผลยาว 83 ฟุตและกว้าง 9 ฟุต
แต่การที่เรือ Great Eastern มีโครงสร้างเรือแบบ Double Hull หรือการออกแบบตัวเรือสองชั้น ส่งผลให้ความเสียหายของผนังเรือชั้นนอกไม่ส่งผลต่อผนังเรือชั้นใน ทำให้เรือยังคงเดินทางถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ
ผลของความเชื่อมั่นเกินไปที่มีต่อเรือ Titanic ยังส่งผลต่อการละเลยมาตรฐานความปลอดภัยทางเรือหลายประการ ทั้งจำนวนเรือชูชีพบนเรือที่น้อยกว่าจำนวนผู้โดยสารถึงครึ่งหนึ่ง และการขาดความรู้ลูกเรือเรื่องการบริหารจำนวนผู้ใช้เรือชูชีพ ทำให้เรือกู้ชีพส่วนใหญ่ขนผู้รอดชีวิตไปเพียงครึ่งลำเท่านั้น ส่งผลให้จำนวนผู้รอดชีวิตน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก
ข้อมูลอ้างอิง :
https://en.wikipedia.org/wiki/Legends_and_myths_regarding_the_Titanic
https://www.printwand.com/blog/how-unsinkable-marketing-campaign-led-titanic-disaster
https://www.snopes.com/fact-check/sinking-the-unsinkable/
https://www.britannica.com/story/did-anyone-really-think-the-titanic-was-unsinkable
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter