กกต. 19 มิ.ย.-“สมชัย” ชี้จุดบอดกฎหมายลูกพรรคการเมือง เกิดความลักลั่น แนะ คสช.ปลดล็อกเปิดทางทำกิจกรรมพรรคทันทีที่กฎหมายประกาศใช้ เพื่อเตรียมตัวสู้ศึก คาดคลอดเอกสารสรุปประเด็นโต้แย้ง พ.ร.ป.กกต.พรุ่งนี้ (20 มิ.ย.)
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (20 มิ.ย.) กกต.จะประชุมหาข้อยุติการทำหนังสือโต้แย้งเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ กกต. 2 ฉบับ เบื้องต้นคาดว่าจะสรุปประเด็นโต้แย้งเรื่องกฎหมายลูก กกต.เป็นเอกสารได้ใน 3-4 ประเด็นส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่เกินวันที่ 23 มิถุนายนนี้ โดยเฉพาะประเด็นคุณสมบัติ กกต. ควรจะอยู่ดำรงตำแหน่งต่อหรือไม่ จะเตรียมเอกสารบันทึกเจตนารมณ์ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระหว่างยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการโต้แย้ง คือ 1.หลักนิติธรรม ที่ควรคืน กกต. 5 คน 2.เจตนารมณ์ในการร่างกฎหมาย ที่พูดถึงเรื่องคุณสมบัติที่จะส่งผลให้ กกต. 3 หรือ 4 คนได้กลับมาทำหน้าที่ และ 3.นิติประเพณี ที่กระบวนการมีขัดเจตนารมณ์ คาดว่าเรื่องนี้จะตั้งกรรมาธิการร่วมได้ในวันที่ 30 มิถุนายน 2560 เพื่อพิจารณาในประเด็นที่โต้แย้งภายใน 15 วัน เพื่อดูว่าจะปรับปรุงตามที่ กกต.เสนอหรือไม่
นายสมชัย กล่าวถึงกรณีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตัวแทน กกต.จะไปหารือกับ กรธ.ในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ กกต.จะเสนอข้อขัดข้องในเชิงขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างไร มีข้อขัดข้องใดที่จะทำให้เจตนารมณ์ไม่สามารถเป็นจริงได้ ซึ่งย้ำกับตัวแทน กกต.ว่าต้องไม่หลงประเด็นไปเป็นเรื่องข้อขัดข้องในทางปฏิบัติ หรือการปฏิบัติได้ยาก เป็นภาระในการปฏิบัติของ กกต.และพรรคการเมือง
“ผมมองว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีปัญหาในทางปฏิบัติ และมีความลักลั่นของกฎหมาย เนื่องจากร่างฯ พรรคการเมืองกำหนดให้พรรคหาตัวแทนสรรหาในแต่ละเขต แต่ขณะนี้ยังไม่มีการแบ่งเขตที่ชัดเจน เพราะต้องรอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นอกจากนี้เมื่อกฎหมายบังคับใช้ พรรคการเมืองต้องดำเนินการหาสมาชิกให้ครบจำนวน รวมถึงจ่ายค่าบำรุงพรรคให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน และหาก คสช.ยังไม่ยกเลิกคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ก็จะส่งผลเสีย และเป็นการกำจัดสิทธิของประชาชนและพรรคการเมือง จนอาจนำไปสู่การฟ้องร้องได้” นายสมชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ กรธ.เชิญ กกต.หารือเกี่ยวกับเนื้อหาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นไพรเมอรี่โหวตในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ในเบื้องต้นทางสำนักงานฯ ได้มีการพิจารณาอำนาจ กกต.ในการที่จะมีความเห็นแย้งที่จะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เมื่อมีการส่งร่างกฎหมายดังกล่าวมาให้พิจารณา โดยเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรค 5 ให้อำนาจ กกต.เห็นแย้งได้เฉพาะกรณีที่เห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งเมื่อตรวจสอบเนื้อหาร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับที่ผ่าน สนช.แล้วก็พบว่าหากบังคับใช้จริง อาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติกับพรรคการเมืองเป็นหลัก และอาจมีปัญหาต่อการตรวจสอบ ควบคุมของ กกต.อยู่บ้าง แต่เนื้อหาโดยรวมก็ไม่ได้เข้าข่ายไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ตรงกันข้ามกลับสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ดังนั้นประเด็นเบื้องต้นที่ทางสำนักงานฯ จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา จึงเป็นกรณีที่หากร่างกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ จะเกิดปัญหาต่อการปฏิบัติของพรรคการเมือง เช่น การตั้งพรรค พรรคเก่าเป็นพรรคอยู่ต่อไปแต่ต้องทำตาม ม.132 ไม่สิ้นสภาพจนกว่าจะพ้น 3 ปี ขณะที่พรรคใหม่ต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาททันที และภายใน 1 ปีถ้าหาสมาชิกไม่ได้ 5,000 คน จัดตั้งสาขาพรรค 4 สาขาในแต่ละภาค ในทางปฏิบัติส่งผลให้การจัดตั้งพรรคใหม่เกิดยาก เพราะมีความยุ่งยาก การรับสมาชิก พรรคเก่ามีสมาชิกเท่าเดิม มีสิทธิเท่าเดิมแม้ไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคการเมือง เว้นแต่ไม่ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกันตามมาตรา 27 อาจเป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง แต่พรรคใหม่ สมาชิกใหม่ต้องเก็บค่าบำรุงทันที ซึ่งบทเฉพาะกาลมาตรา 136 กำหนดให้ปีแรกเก็บไม่น้อยกว่า 50 บาท และปีต่อไปไม่น้อยกว่า 100 บาท ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดภาวะปลา 2 น้ำ พรรค 2 แบบ
การตั้งตัวแทนประจำจังหวัดทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ ต้องทำเท่ากัน แต่พรรคเก่าจะได้เปรียบเพราะมีสมาชิกในพื้นที่อยู่แล้ว แต่บทบัญญัติก็มีลักษณะให้พรรคเร่งหาสมาชิกพรรคเพื่อตั้งสาขาและตัวแทนประจำจังหวัด แต่เมื่อประชาชนยังไม่เกิดศรัทธาต่อพรรค ก็อาจจะเกิดปัญหาการซื้อสมาชิกพรรคไปพร้อมกับการซื้อเสียงได้
องค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา พรรคเก่าต้องใช้ดำเนินการตามาตรา 49 วรรค 2 ทันที ซึ่งจะมีเพียงพรรคเก่าใหญ่เท่านั้นที่ทำได้ ส่วนพรรคใหม่ได้สิทธิใช้ มาตรา 135 ซึ่งพรรคใหม่ได้เปรียบพรรคเก่า เพราะคณะกรรมการสรรหามีเพียง 11 คน เป็นกรรมการบริหารพรรค 4 คน อีก 7 คนให้หัวหน้าสาขากับตัวแทนประจำจังหวัดเลือกกันให้ได้ครบ 7 คน แต่ปัญหาคือพรรคใหม่จะขาดองค์ประกอบในส่วนของตัวแทนประจำจังหวัด เพราะยังตั้งไม่ได้ เนื่องจาก กกต.ยังไม่ประกาศเขตเลือกตั้ง / การใช้ระบบไพรเมอรี่โหวตใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกไม่มีปัญหา แต่ต่อมาหากมีการยุบสภาเร็วเช่นใน 6 เดือน การใช้ระบบดังกล่าวในการคัดสรรผู้สมัครของพรรคอาจเกิดปัญหาได้ แต่หากรัฐบาลผ่านการบริหารงานไป 1-2 ปีแล้วยุบสภา พรรคการเมืองจะมีเวลาเตรียมการใช้ระบบดังกล่าว ไม่เกิดปัญหา
นอกจากนี้ในร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติเรื่องการให้ยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหลังการประกาศใช้กฎหมาย เหมือนกับร่าง พ.ร.ป.กกต. มาตรา 3 ที่ได้บัญญัติให้มีการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของ กกต.ไว้ ดังนั้นแม้จะมีการบังคับใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว พรรคการเมืองก็ยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ซึ่งประเด็นทั้งหมดหากที่ประชุม กกต.เห็นตามที่สำนักงานฯ เสนอว่าเป็นเรื่องแนวทางการปฏิบัติของพรรคการเมือง ไม่ใช่การไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ในการหารือร่วมกับ กรธ. หากเห็นต่าง ก็สามารถเสนอตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายได้.-สำนักข่าวไทย