21 เมษายน 2568
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประโยชน์ของฟลูออไรด์ต่อสุขภาพฟันเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐฯ เมื่อ โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ เคยกล่าวถึงโทษของการเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่มของสหรัฐฯ ระหว่างการหาเสียงเมื่อปี 2024 โดยให้ความเห็นว่าฟลูออไรด์ในน้ำดื่มส่งผลเสียต่อพัฒนาการสมองของเยาวชน โดยอ้างคดีเมื่อเดือนกันยายน 2024 ที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ถูกตัดสินให้ปรับปรุงคำแนะนำเรื่องระดับปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม
และงานวิจัยจากโครงการพิษวิทยาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Toxicology Program – NTP) ที่เนื้อหาฉบับร่างที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม 2024 ระบุว่า ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มระดับสูง ส่งผลต่อพัฒนาการสมองที่ลดลงในเยาวชน
การต่อต้านฟลูออไรด์ในน้ำดื่มโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ ส่งผลให้กระแสต่อต้านฟลูออไรด์ในน้ำดื่มถูกเผยแพร่ในวงกว้าง โดยล่าสุดผู้ว่าการรัฐยูทาห์เตรียมประกาศแบนการเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม ส่งผลให้ยูทาห์อาจเป็นรัฐแรกในสหรัฐฯ ที่มีนโยบายแบนฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม
บทสรุป :
1.การเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม ทำให้ได้รับฟลูออไรด์ในรูปแบบ Systemic Fluoride เสริมจากการแปรงฟันซึ่งเป็นการรับฟลูออไรด์ในรูปแบบ Topical Fluoride
2.แม้จะมีงานวิจัยพบว่าการน้ำดื่มที่มีฟลูออไรด์สูง ส่งผลต่อไอคิวของเด็ก แต่ไม่มีรายงานว่า การน้ำดื่มที่มีปริมาณฟลูออไรด์เหมาะสม จะส่งผลต่อระดับสติปัญญาของเด็ก
3.ข้อมูลในสหรัฐฯ พบว่าการดื่มน้ำผสมฟลูออไรด์ลดอัตราการเกิดฟันผุในเด็กได้มาก
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
การเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่มของสหรัฐฯ
สหรัฐฯ เริ่มเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่มครั้งแรกเมื่อปี 1945 จุดประสงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพฟันของประชาชน ให้ได้รับฟลูออไรด์ในรูปแบบ Systemic Fluoride ผ่านน้ำดื่มผสมฟลูออไรด์ เพื่อเสริมจากการได้รับฟลูออไรด์ในรูปแบบ Topical Fluoride ผ่านการแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์
ปัจจุบันชาวอเมริกันเกือบ 70% ได้รับฟลูออไรด์จากน้ำดื่ม โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า การดื่มน้ำผสมฟลูออไรด์ช่วยลดอาการฟันผุในเด็กและผู้ใหญ่ชาวอเมริกันได้ถึง 25% และจัดให้การเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่มเป็น 1 ใน 10 ความสำเร็จด้านสาธารณสุขแห่งศตวรรษที่ 20
ปริมาณฟลูออไรด์ที่แนะนำในน้ำดื่ม
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ปริมาณฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำไม่ควรเกิน 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร
ในสหรัฐฯ เคยกำหนดให้น้ำดื่มมีปริมาณฟลูออไรด์ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ก่อนจะลดลงเหลือ 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตรตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา
ด้านสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) กำหนดให้มีฟลูออไรด์ในน้ำดื่มเอาไว้ 2 ระดับ
ได้แก่ระดับ Primary Drinking Water Regulations ที่มีฟลูออไรด์ไม่เกิน 4 มิลลิกรัมต่อลิตร เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดื่มเสี่ยงต่อโรค Skeletal Fluorosis จากการรับฟลูออไรด์ปริมาณมากเป็นเวลานาน นำไปสู่การสะสมของแคลเซียมในกระดูก ทำให้กระดูกผิดรูป กระดูกเปราะบาง เจ็บที่กระดูกและข้อต่อ
และระดับ Secondary Drinking Water Standards ที่มีฟลูออไรด์ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อลิตร เพื่อป้องกันผู้ดื่มจากความเสี่ยงต่อโรค Dental Fluorosis หรือโรคฟันตกกระ
คำพิพากษาของศาลแขวงของรัฐบาลกลางในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ ตัดสินให้ EPA ต้องปรับปรุงคำแนะนำปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม ซึ่งทาง EPA มีแผนที่จะยื่นอุทธรณ์คำตัดสินในอนาคต
NTP ย้ำ ไม่พบอันตรายในน้ำที่มีฟลูออไรด์น้อยกว่า 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร
เมื่อเดือนมกราคม 2025 โครงการพิษวิทยาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Toxicology Program – NTP) ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยเชิงการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) เกี่ยวกับปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มและพัฒนาการทางระบบประสาทและความทรงจำ
ผลการศึกษาพบว่า ขณะที่ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มไม่มีผลต่อการทำงานของสมองในผู้ใหญ่ แต่พบความเป็นไปได้ว่าการได้รับฟลูออไรด์ในน้ำดื่มปริมาณสูงกว่า 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่งผลให้เด็กมีไอคิวที่ต่ำกว่าเด็กที่ได้รับปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มที่น้อยกว่า
ข้อมูลดังกล่าวสร้างข้อโต้แย้งในแวดวงทันตกรรมอย่างแพร่หลาย เพราะบรรดางานวิจัยที่ถูกนำมาวิเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นการสำรวจปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มจากประเทศที่มีปริมาณฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำดื่มสูงปกติและสูงกว่าที่พบในสหรัฐฯ เช่น แคนาดา จีน อินเดีย อิหร่าน ปากีสถาน และเม็กซิโก
นอกจากนี้ โครงการพิษวิทยาแห่งชาติสหรัฐอเมริกาย้ำว่า ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลกระทบต่อไอคิวเด็กที่ได้รับฟลูออไรด์ในน้ำดื่มระดับต่ำหรือ 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นระดับที่สหรัฐฯ แนะนำในปัจจุบัน
โดยเน้นว่าผลกระทบของฟลูออไรด์ในน้ำดื่มต่อพัฒนาการของเด็กยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งงานวิจัยครั้งนี้ไม่ใช่การตั้งคำถามถึงประโยชน์ของฟลูออไรด์ต่อสุขภาพของประชาชน
งานวิจัยโทษของฟลูออไรด์ในน้ำดื่มไม่ชัดเจน
มีงานวิจัยมากมายที่ถูกใช้เป็นหลักฐานยืนยันอันตรายจากการผสมฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม แต่การตรวจสอบพบว่าหลายงานการวิจัยขาดความชัดเจน
งานวิจัย Meta-analysis ปี 2012 ที่เผยแพร่ทางวารสาร Environmental Health Perspectives เป็นการสำรวจการดื่มน้ำในพื้นที่ยากไร้ในสาธารณรัฐประชาชนจีน มองโกเลีย และอิหร่าน ซึ่งมีปัญหามลภาวะในสิ่งแวดล้อมและมีปริมาณฟลูออไรด์สูงกว่าปกติ
ทีมวิจัยสรุปว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่แหล่งน้ำมีปริมาณฟลูออไรด์สูง จะมีไอคิวที่ต่ำกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่แหล่งน้ำมีปริมาณฟลูออไรด์ต่ำ
อย่างไรก็ดี งานวิจัยดังกล่าวถูกตั้งคำถามเรื่องการไม่ควบคุมตัวแปรกวนอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อไอคิวของเด็ก เช่น มลภาวะ โภชนาการ ไอคิวของผู้ปกครอง สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังไม่ได้กำหนดข้อมูลที่ใช้อ้างอิงถึงปริมาณฟลูออไรด์ที่เหมาะสม จึงอาจตีความได้ว่าการได้รับฟลูออไรด์ในน้ำดื่มในปริมาณที่เหมาะสมอาจส่งผลให้ไอคิวสูงก็เป็นได้
งานวิจัย Meta-analysis ปี 2021 ที่เผยแพร่ทางวารสาร Scientific Reports พบว่าการได้รับฟลูออไรด์ปริมาณสูงมีความสัมพันธ์ต่อภาวะไอคิวต่ำ แต่ไม่พบว่าการได้รับฟลูออไรด์ปริมาณต่ำมีความสัมพันธ์ต่อปัญหาระบบประสาท
โดยกำหนดให้ฟลูออไรด์มากกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นระดับสูง และฟลูออไรด์ระหว่าง 0.5-1 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นระดับต่ำ
ซึ่งผู้วิจัยย้ำว่าหลักฐานที่พบส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำ จึงไม่อาจสรุปได้ว่าฟลูออไรด์มีผลต่อปัญหาระบบประสาท แม้จะรับในปริมาณสูงก็ตาม
งานวิจัย Meta-analysis ปี 2023 ที่เผยแพร่ทางวารสาร Environmental Research พบว่า ฟลูออไรด์มีความสัมพันธ์ต่อภาวะไอคิวต่ำในเด็ก แม้จะได้รับในปริมาณน้อยหรือเพียง 1 มิลลิกรัมต่อลิตรหรือน้อยกว่าก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยพบว่างานวิจัยหลายชิ้นที่พบอันตรายของฟลูออไรด์ล้วนมีปัญหาด้านควบคุมคุณภาพในงานวิจัย เช่น การไม่ควบคุมตัวแปรกวน
โดยพบว่า งานวิจัยเดียวที่ศึกษาซึ่งไม่มีปัญหาด้านคุณภาพงานวิจัย ไม่พบว่าฟลูออไรด์มีผลต่อภาวะไอคิวของเด็ก
งานวิจัย Meta-analysis ปี 2023 ที่เผยแพร่ทางวารสาร Public Health ซึ่งตรวจสอบงานวิจัยที่ศึกษาการดื่มน้ำผสมฟลูออไรด์ในระดับไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ไม่พบว่าการดื่มน้ำผสมฟลูออไรด์มีความสัมพันธ์ต่อระดับไอคิวแต่อย่างใด
ที่ผ่านมา มีงานวิจัยในหลอดทดลองที่พบว่าฟลูออไรด์ปริมาณสูงมาก ๆ ส่งผลเสียต่อเซลล์ระบบประสาท แต่การทดลองในสัตว์ทดลองและมนุษย์ ไม่พบว่าฟลูออไรด์ระดับต่ำที่ผสมในน้ำดื่มจะส่งผลเสียต่อระบบประสาทแต่อย่างใด
ปัญหาสุขภาพฟันหลังยุติการเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม
ลินด์ซีย์ แม็คลาเรน ศาสตราจารย์ ภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยคัลการี ประเทศแคนาดา อธิบายว่า หลังจากเมืองคัลการี ยุติการเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่มเมื่อปี 2011 พบว่า เด็กในเมืองมีปัญหาสุขภาพฟันมากขึ้น ปัจจุบันเมืองคัลการีจึงกลับมาเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่มอีกครั้งในปี 2025
ลินด์ซีย์ แม็คลาเรน ย้ำว่า ฟันผุไม่ใช่เรื่องเล็ก ความเจ็บปวดในช่องปากทำให้เด็กขาดสารอาหารและเสียสมาธิระหว่างการเรียนหนังสือ อาการฟันผุที่รุนแรงอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดที่จำเป็นต้องใช้ยาสลบ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับเด็ก
รอดนีย์ ธาร์นเนลล์ ประธานสมาคมทันตแพทย์รัฐยูทาห์ ซึ่งเคยทำงานเป็นหมอในเมืองซอลต์เลกซิตี ในยุคที่รัฐยูทาห์ยังไม่มีนโยบายเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม เล่าว่า ในปัจจุบันพบว่าผู้ใหญ่ในเมืองจำนวนมากมีปัญหาฟันผุ ต่างจากเด็กในเมืองที่เกิดในยุคที่มีการเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม ที่มีปัญหาฟันผุน้อยกว่ามาก
รอดนีย์ ธาร์นเนลล์ ย้ำว่า ตราบใดที่ประชาชนยังชอบกินน้ำตาล ฟลูออไรด์ก็ยังมีความจำเป็นอย่างมาก
ข้อมูลอ้างอิง :
https://healthfeedback.org/claimreview/low-amounts-fluoride-added-community-water-not-associated-with-neurotoxicity-contrary-online-claims/
https://www.factcheck.org/2024/02/cdc-experts-say-fluoridated-water-is-safe-contrary-to-rfk-jr-s-warnings/
https://apnews.com/article/fluoride-ban-drinking-water-utah-559d92736f1958ff5d109071fa85f5b5
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter