เปิดบันทึกกิจกรรม “นักสืบสายชัวร์ X ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST”

นักสืบสายชัวร์ X ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST คืออะไร?

“นักสืบสายชัวร์ x ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST” เป็นโครงการที่ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อสร้างความรู้เท่าทันข้อมูลเท็จและภัยไซเบอร์ให้แก่ประชาชน โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดมาจากโครงการ “นักสืบสายชัวร์” ที่จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องหลายปี


ปักหมุดกิจกรรมครั้งแรกที่ “พัทยา”

เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่หมุดหมายแรกของการจัดกิจกรรมเพื่อการรู้เท่าทันรูปแบบใหม่ในครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “รู้เท่าทันผ่านมุมมองของการสร้างกลลวง” ซึ่งเป็นการบูรณาการศาสตร์ที่หลากหลายครั้งแรกของประเทศไทย กลายเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจผ่านวิทยากรจากต่างวงการ

นายผาติยุทธ ใจสว่าง รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กิจกรรมในลักษณะนี้ อสมท จัดมาโดยตลอด ซึ่งมีรายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” เป็นโครงการนำร่องที่สร้างคุณค่าและความรู้ให้กับประชาชนและเยาวชนจนถึงปัจจุบัน”

นายชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนักสืบสายชัวร์ X ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST นอกจากได้ความรู้กลับไปแล้ว ยังได้ทักษะ วิธีการคิด เฉลียว เท่าทัน และเฝ้าระวังจากคนโกง รวมถึงกลลวงต่าง ๆ ด้วย”

นอกจากนี้ ยังมีเจ้าบ้านอย่างเมืองพัทยา ที่อำนวยความสะดวก เรื่องสถานที่จัดงาน โดย คุณปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ได้กล่าวว่า “การเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับผู้ร่วมกิจกรรม นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้จากวิทยากรระดับประเทศ และนอกจากได้ความรู้แล้วยังมีความสนุก เพลิดเพลิน และได้ภูมิคุ้มกันที่จะใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับข่าวปลอมต่าง ๆ ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะเมืองพัทยาเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของประเทศไทยและทั้งโลกด้วย การจัดสัมมนาครั้งนี้จะช่วยได้อย่างยิ่ง เมืองพัทยายินดีต้อนรับกิจกรรมดี ๆ เหล่านี้เป็นอย่างมาก”


กิจกรรมมายากลสุดระทึก!

ไฮไลต์ของกิจกรรมคือ “การแสดงมายากล” จากนักมายากลระดับตำนานของเมืองไทย ที่นำเสนอการรู้เท่าทันข้อมูลเท็จและภัยไซเบอร์ผ่านการแสดงมายากลและกลลวงต่าง ๆ ผู้ร่วมกิจกรรมจะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับโชว์และการเปิดโปงกลเม็ดกลลวงที่เหล่ามิจฉาชีพใช้กล่าวอ้างในการหลอกลวงเหยื่อ

แม้ดูเหมือนว่านักมายากลจะสามารถเสกคาถาหรือร่ายมนต์วิเศษได้ ทว่าในความเป็นจริงล้วนเป็นการแสดงที่อาศัยการฝึกฝนและประสบการณ์ ถ้าหากเราเข้าใจคนกลวิธีก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพแน่นอน

คุณเฉลิมสวรรค์ ไพบูลย์พันธ์ (อาจารย์ฟิลิป) นักมายากล ที่ปรึกษาสมาคมวิทยากลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “มีความเชื่อหลายเรื่องที่ต้องพิสูจน์ให้ดู เพราะว่าสิ่งเหล่านี้นักมายากลก็ทำได้ สิ่งไหนที่นักมายากลทำได้ สิ่งนั้นจะไม่ใช่ความมหัศจรรย์หรือวิเศษอะไรทั้งสิ้น เป็นเพียงการแสดงแค่นั้นเอง”




เมื่อ “วิทยาศาสตร์” ไขความลับ “อภินิหารเร้นลับ”

เรื่องเร้นลับและอภินิหารมักถูกมิจฉาชีพนำมาแปลงสารให้กลายเป็นข้อมูลลวง หลอกลวงผู้คนบน Social Media มากเป็นอันดับต้น ๆ

ด้วยความไม่รู้ หรือมองไม่เห็นด้วยตา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรื่องราวเหล่านี้ยังคงใช้หลอกลวงได้อยู่เสมอ ทั้งที่รู้ว่าเรื่องลี้ลับส่วนมากเป็นข้อมูลกลลวงของผู้ไม่หวังดีที่แฝงตัวในคราบมิจฉาชีพ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมวิทยากลแห่งประเทศไทย อธิบายว่า “มีหลายเรื่องที่ฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่เราเชื่อ เช่น เชื่อว่าผีและวิญญาณมีจริง แต่ถ้าอธิบายได้ว่าสิ่งที่เราเห็นนั้น จริง ๆ แล้ววิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องพวกนี้ได้ไม่ใช่เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องความเข้าใจผิดไปเอง หรือบางทีก็เป็นการใช้แอพพลิเคชันมือถือต่าง ๆ ในการแกล้งก็ได้

เรื่องการหลอกลวงขายสินค้าก็มีมากมาย มีการใช้เทคนิคให้ดูเหมือนน่าเชื่อถือ แต่ถ้าเราจับได้ว่าเทคนิคนั้นจริง ๆ มันก็เป็นแค่กลลวง ไม่ว่าจะเป็นกลลวงทางวิทยาศาสตร์หรือแม้แต่มายากลก็ตาม

สิ่งที่เราอยากได้ก็คือการกระตุ้นต่อม “เอ๊ะ” ขึ้นมา แล้วหากเจอคนเข้ามาหลอกลวงเรา เราอาจจะต้องตรวจสอบก่อนว่ามีแนวโน้มที่จะหลอกได้หรือเปล่า แต่เมื่อก่อนเชื่อทันทีเลย แชร์เลย ส่งต่อเลย”




“เทคนิคทางคอมพิวเตอร์” รับมือข้อมูลเท็จ ภาพลวงตา!!

นอกจากข้อมูลลวงที่อยู่ในรูปตัวอักษรแล้ว การใช้เทคนิคภาพทางคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างภาพลักษณ์และตัวเสมือนบนโลกออนไลน์ ถือเป็นภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนที่รู้ไม่เท่าทันกลลวงอย่างยิ่ง

อุปนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย คุณขจร พีรกิจ กล่าวว่า “ยิ่งเทคโนโลยีรุดหน้าไปไกล เรายิ่งต้องเพิ่มองค์ความรู้ให้เป็นเกราะคุ้มกันภัยไซเบอร์

สิ่งหนึ่งที่อยากจะให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าใจก็คือเวลาเห็นภาพ ต้องคิดก่อนว่าภาพนี้เป็นภาพจริงหรือเปล่า ภาพลวงตาที่เหล่ามิจฉาชีพใช้ คล้ายคลึงกับจินตภาพแห่งมายาที่นักมายากลใช้แสดงอยู่บนเวที ต่างกันตรงที่มายากลนั้นสร้างความบันเทิงใจ ในขณะที่กลลวงของผู้ไม่หวังดีสร้างความเสียหายให้กับผู้คน และที่สำคัญมากก็คือการเอาภาพของคนอื่นไปใช้หลอกลวง

เห็นได้ชัดเลยว่าเวลาเราเห็นการโฆษณาเรื่องลดความอ้วน บางทีภาพจริงอาจจะเป็นเพียงการสร้างภาพ แต่คนคนนั้นก็ยังอ้วนอยู่เหมือนเดิม

ต้องการให้คนที่มาอบรมได้ตระหนัก เห็นภาพแล้วก็อย่าเพิ่งเชื่อ ต้องวิเคราะห์ก่อนว่าภาพนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ดังนั้น ถ้ายังไม่แน่ใจว่าภาพถูกตกแต่งหรือเปล่า ติดต่อได้ที่รายการชัวร์ก่อนแชร์ มีผู้เชี่ยวชาญช่วยในการตัดสินใจได้จริง”



จับโป๊ะเรื่องลี้ลับด้วย “วัคซีนความเชื่อ”

คุณกฤษกร แซ่เหล้า (เบิ้ม ลูกโป่ง) นักมายากล อธิบายว่า “กลเม็ดที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวงผู้คนมีมากมาย แต่นับวันยิ่งแนบเนียน เมื่อเราเรียนรู้และเข้าใจ ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ

พวกเรานักมายากลจะไม่ก้าวล่วงหรือไม่ดูถูกความเชื่อใคร แต่เราจะนำเสนออีกมุม คือ วัคซีนความเชื่อ เป็นเรื่องราววัคซีนป้องกันเหมือนกับการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เป็นการป้องกันการโดนหลอกจนตกเป็นเหยื่อนั่นเอง รวมถึงวัคซีนมิจฉาชีพด้วย”

ซึ่งวัคซีนความเชื่อเป็นหลักสูตรที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “นักสืบสายชัวร์ X ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST” จะได้ฝึกการตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถามต่อข้อมูลและภาพที่เห็นตรงหน้าว่าเป็นเรื่องจริง หรือไม่ พร้อมตรวจสอบข้อมูลก่อนส่งต่อ ถือเป็นการสร้างการรู้เท่าทันข้อเท็จจริงให้กับประชาชนตามแนวคิด TRICK or TRUST




TRICK or TRUST เสริมทักษะรู้เท่าทันภัยไซเบอร์

เนื้อหาสาระที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ล้วนนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันพร้อมแบ่งปันสู่คนในครอบครัวได้

ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “เทคนิคการหลอกลวงเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละพื้นที่ ดังนั้นจำเป็นต้องส่งเสริมองค์ความรู้นี้อย่างรวดเร็ว”

ด้าน ผศ.ดรวรัชญ์ ครุจิต คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า “เรื่องของมายากลนั้น สิ่งที่มองเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น เพราะว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เห็นครั้งแรกเราอย่าเพิ่งเชื่อ ครั้งต่อไปมันจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง อาจจะไม่ใช่ของจริงก็ได้ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่จะได้ก็คือการปลุกจิตสำนึกว่าสิ่งที่เห็นครั้งแรกอาจจะไม่ใช่เรื่องจริง เราต้องมีสติหนักแน่นเอาไว้ ใช้ความระมัดระวังที่จะไม่ตกหลุมพราง”


รู้เท่าทันกลลวงแห่งปัญญาประดิษฐ์ A.I.

การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ A.I. สร้างภาพเสมือน เป็นเทคนิคที่เหล่ามิจฉาชีพใช้หลอกลวงผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อในปัจจุบัน

นักสร้างภาพยนตร์แอนิเมชัน match move artist คุณชิษณุพงษ์ กนกเนตรสกล ให้ความเห็นว่า “เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถรังสรรค์ทุกสิ่งให้เกิดขึ้นจริงได้เพียงปลายนิ้ว เราจึงต้องเรียนรู้ให้เท่าทันกลลวงทั้งด้านภาพและเสียงว่าสิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่ปาฏิหาริย์”

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาใช้ให้เราหลงเชื่อได้ บางทีอาจจะปลอมแปลงใบหน้าคน ใส่อย่างอื่นเข้าไปทำให้เราหลงเชื่อ ก็จะเป็นกลลวงของคนที่จะนำไปใช้และถ้าเป็นคนที่มีเจตนาร้ายก็อาจจะมาหลอกลวงเรา เพราะถ้าใช้ด้วยเจตนาดีก็เป็นสื่อบันเทิงทั่วไป ตรงนี้อยากจะแชร์ให้กับทุก ๆ คนที่มาร่วมงาน TRICK or TRUST

การกล่าวอ้างโดยใช้ข้อคิดเห็นมากกว่าข้อเท็จจริงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาการทะเลาะวิวาท ระรานกันบนโลกออนไลน์

ดังนั้น การเรียนรู้จากกรณีศึกษา รับข้อมูลข้อเท็จจริง ข่าวลวงต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นต่อหลักสูตรการเรียน ทั้งในและนอกสถาบันการศึกษาทุกระดับ

ในมุมมองของ ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเด็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้น “เวลาที่เราได้รับข้อมูลมา ก่อนที่จะเชื่อแล้วแชร์ต่อไป เราต้อง “เอ๊ะ” ก่อน ว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ โดยควรคำนึงถึงเหตุผลดังนี้

1. คนที่ทำหวังผลประโยชน์อะไร เพราะการสร้างสื่อขึ้นมามีผลประโยชน์หรือหวังผลอะไรบางอย่างอยู่แล้ว
2. เราต้องเข้าใจว่าสื่อถูกประกอบสร้าง และสิ่งที่เราเห็นมันไม่จำเป็นจะต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไปก็ได้

การประกอบสร้างสามารถทำได้หลายอย่าง อาจจะเป็นมุมกล้อง เป็นการปกปิดบางอย่าง หรือแม้กระทั่งการใช้กราฟิกและเทคโนโลยีทำให้ดูเหมือนจริง ในยุคที่เรียกว่า Hyperreality ที่ดูเสมือนจริงมาก

ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงคนที่เป็นสื่อมืออาชีพหรือองค์กรเท่านั้นที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาได้ เราอยู่ในยุคที่ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้”


รู้เท่าทันข่าวลวง-ข้อมูลเท็จ เป็นเรื่องของ “ทุก Gen”

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “นักสืบสายชัวร์ X ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST” ครั้งนี้ มีหลายช่วงวัย ตั้งแต่ 7 – 74 ปี มีทั้งนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชนทั่วไป จากพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล และเมืองพัทยา สะท้อนให้เห็นว่าการรู้เท่าทันข่าวลวงและข้อมูลเท็จ เป็นเรื่องของคนทุก Generations

ถึงแม้มีความแตกต่างกัน แต่กิจกรรม TRICK or TRUST ก็ทำลายกำแพงแห่งวัย ซึ่งนอกจากความสนุกสนานที่ได้ สาระความรู้ที่สอดแทรกอยู่ในทุกกิจกรรม ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ จากการตรวจสอบข้อมูลให้รอบด้านก่อนจะแชร์ต่อ



จุดประกายรับข้อมูลข่าวสาร ตรวจสอบรอบด้าน สร้างสังคมรู้เท่าทัน

ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้ฝึกการตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามต่อข้อมูลและภาพที่เห็น ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ ตรวจสอบข้อมูลก่อนส่งต่อ โดยมีเสียงสะท้อนว่าควรบรรจุเนื้อหาสาระความรู้ที่เหมาะสมในหลักสูตรการเรียนการสอนให้เยาวชน ประชาชนจะได้เรียนรู้ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ

ปิดท้ายด้วยมุมมองของ คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท กล่าวว่า “นี่คือการริเริ่มของศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เราพยายามทำให้คนรู้เท่าทันสื่อ เพราะสิ่งนี้คือภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันทุก ๆ คนให้พ้นจากเรื่องที่อันตรายมาก ๆ คือเรื่องของภัยจากข้อมูลข่าวสารในยุคนี้

จริง ๆ แล้วทุกคนต้องมีภูมิคุ้มกัน และการที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ก็คือการเรียนรู้ เราจึงเปิดตัวมุมมองของหลักสูตรการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง จากเดิมที่บอกว่าระวังข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ เราจะต้องตรวจสอบก่อนจะแชร์ต่อ ตอนนี้เรามองว่าเขาหลอกกันอย่างไร อะไรทำให้หลอก อะไรทำให้คนตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือ”


ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็คืออีกหนึ่งหลักสูตรดี ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมที่รู้เท่าทัน


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนักสืบสายชัวร์ x ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST ภายใต้การสนับสนุนโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ยึดรถบอสดิไคอน

ตำรวจยึดรถ “บอสพอล-บอสกันต์” เพิ่มเติมรวม 4 คัน

ตำรวจยึดรถ “บอสพอล-บอสกันต์” เพิ่มเติมรวม 4 คัน ขณะที่พนักงานสอบสวนชุดเล็กประชุมสรุปรายงานผลการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เตรียมรายงานคณะทำงานชุดใหญ่พรุ่งนี้

ระเบิดสะพานโจร

“ระเบิดสะพานโจร” ทำลายสายส่งเคเบิลขนาดใหญ่ ลักลอบพาดสายบนสะพานข้ามโขง

กสทช. จับมือตำรวจ สานต่อยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” ทำลายสายส่งเคเบิลขนาดใหญ่ ลักลอบพาดสายบนสะพานข้ามโขง อย่างอุกอาจ เอื้อแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ว.วชิรเมธี

พระพยอมชี้ ท่าน ว.วชิรเมธี นั่งบนหิมะ ไม่ผิดวินัยสงฆ์

เพจดังลงภาพท่าน ว.วชิรเมธี นั่งสมาธิบนหิมะที่ญี่ปุ่น ด้านพระพยอมชี้ ไม่ผิดวินัยสงฆ์ คิดว่าท่าน ว.วชิรเมธี คงอยากทดสอบความอดทน

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เผยอีสาน-เหนือตอนบน อากาศเย็นในตอนเช้า-ลมแรง

กรมอุตุฯ เผยภาคอีสาน ภาคเหนือตอนบน มีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ส่วนภาคใต้ตอนบน ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง

สายไหมระทึก! ล่าแก๊งค้ายา ยิงเปิดทางหนี รวบ 2 หนี 1

เมื่อคืนที่ผ่านมา ในพื้นที่เขตสายไหม เกิดเหตุระทึก คนร้ายค้ายา 3 คน หลบหนีการจับกุม ยิงตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ ก่อนจะไปซ่อนตัวในบ้านประชาชน นานกว่า 6 ชั่วโมง สุดท้ายจับกุมได้ 2 คน ส่วนอีก 1 หลบหนี

บุกรวบ “แม่เสี่ยโป้” คาบ้านหรู โยงเว็บพนัน

ตำรวจสอบสวนกลาง บุกรวบ “แม่เสี่ยโป้” คาบ้านหรูย่านพุทธมณฑลสาย 2 ข้อหาเอี่ยวเว็บพนันออนไลน์ พบเปลี่ยนชื่อ อำพรางตัว อ้างเป็นแม่บ้าน แต่ขณะตำรวจนำกำลังเจ้าจับ กลับวิ่งไปหาที่หลบ

รฟท.นำรถจักรไอน้ำนำเที่ยวเนื่องในวันปิยมหาราช

วันปิยมหาราช รฟท. จัดเดินขบวนรถไฟขบวนพิเศษนำเที่ยวรถจักรไอน้ำ เส้นทางกรุงเทพฯ – อยุธยา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5