กรุงเทพฯ 19 มิ.ย. – “ชัชชาติ” นําผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา แถลงเหตุแผ่นดินไหว ยืนยันไม่กระทบต่อ กทม.หากก่อสร้างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม
นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล, น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. และนายฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอมรเทพ จิรศักดิ์จํารูญศรี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์แผ่นดินไหวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยจุดศูนย์กลางเกิดขึ้นที่บริเวณนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ห่างจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ.พบพระ จ.ตาก ประมาณ 289 กม. ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยบนตึกสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่
นายชัชชาติ กล่าวว่า จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวนั้นอยู่ห่างพื้นที่กรุงเทพมหานครอยู่ประมาน 500 กิโลเมตร เบื้องต้นทราบว่าส่งผลกระทบ 11 เขต ทั่วกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นเขตที่มีอาคารสูง อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานความเสียหาย หรืออาฟเตอร์ช็อกตามมา
ด้านนายวิศณุ กล่าวว่า อาคารแต่ละอาคารมีความสูงที่แตกต่างกัน ซึ่งทาง กทม.มีการติดเครื่องมืดวัดแรงสั่นสะเทือนไว้ที่อาคารธานีนพรัตน์ ชั้น 36 และอาคารภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 6 โดยเครื่องมือที่ติดนั้นวัดเป็นหน่วย milli-g ซึ่งปกติคนสามารถรับได้อยู่ที่ 1 milli-g และขึ้นอยู่กับประเภทและความสูงของอาคารนั้นๆ ด้วย ซึ่งขณะเกิดแผ่นดินไหววันนี้ ที่อาคารธานีนพรัตน์ วัดได้อยู่ที่ 3.5 milli-g ส่วนอาคารภาควิชาวิศวกรรมโยธาฯ วัดได้อยู่ที่ 1.5 milli-g ซึ่งทั้ง 2 อาคารอยู่ในระดับที่คนเราสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ แต่ค่าความสั่นสะเทือนที่ออกแบบไว้ตามมาตรฐานก่อนหน้านี้ส่วนฐานรับได้อยู่ที่ 50 milli-g ส่วนยอดรับได้อยู่ที่ 150 milli-g ซึ่งจะเห็นได้ว่าตามมาตรฐานแล้วสามารถรับได้สําหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้
นายฉัตรพันธ์ ระบุว่าแผ่นดินไหววันนี้อยู่ที่ 6.0 ริกเตอร์ ซึ่งไม่พบความเสียหายเพราะอยู่ไกล และระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นอาคารสูงในพื้นที่ กทม. สามารถต้านทานได้ไม่มีปัญหา และไม่น่าห่วง แต่ประชาชนบางรายอาจเห็นโคมไฟ แกว่งจึงตกใจ ซึ่งตนขอให้มั่นใจว่าไม่เป็นผลกระทบ เพราะการที่ตึก หรืออาคารจะถล่มได้นั้นแค่กําแพงร้าวก็ไม่ได้หมายความว่าจะถล่ม มันต้องร้าวลึกเข้าไปชั้นในเช่นนั้นจึงจะเสี่ยงต่อการถล่มได้ โดยทั่วไปอาคารมีหลายประเภท หากก่อสร้างถูกต้องตามโครงสร้างหรือหลักของวิศวกรรมก็ไม่มีปัญหา ส่วนรอยร้าวที่อาจกระทบต่อ กทม. คือใน จ.กาญจนบุรี ซึ่งรับได้ 7.5 ริกเตอร์ สําหรับรถไฟฟ้าหรือทางด่วนต่าง ๆ แน่นอนว่ามีการออกแบบเพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหวอยู่แล้วจึงไม่น่าห่วง
นายอมรเทพ ยืนยันด้วยว่าเหตุการณ์วันนี้ไม่น่าเป็นห่วง อนาคตจะมีการติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหวเพิ่มตามอาคารสูง เพื่อดูว่าแต่ละอาคารมีระดับความรุนแรงขนาดไหนและส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งจะได้แจ้งไปยังผู้ที่ใช้อาคารนั้นๆ ได้
น.ส.ทวิดา กล่าวเพิ่มว่า อนาคต กทม.จะเชื่อมระบบ LINE ALERT เข้ากับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อีกส่วนคือการให้ความรู้และฝึกซ้อมอพยพว่าหากเกิดแผ่นดินไหวควรปฏิบัติตนอย่างไร
ทั้งนายชัชชาติ ระบุว่าจุดที่ควรปรับปรุงคือความดีเลย์ของ กทม. ต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วย ซึ่งจะมอบให้รองฯ ทวิดา ดูแลเรื่องนี้รวมถึงการฝึกซ้อมอพยพเหตุแผ่นดินไหว ส่วนประเด็นการตั้งของอาคารอยู่บนดินเหนียวหรืออ่อนนั้นไม่น่ามีปัญหา เว้นแต่อาคารที่ลักลอบก่อสร้างผิดมาตรฐาน ทั้งนี้อาคารทั่วไปสามารถรับแรงดินไหวได้หากทําตามมาตฐาน. -สำนักข่าวไทย