กทม. 15 มิ.ย.-ผลวิจัยพบว่าเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์มากที่สุด และมีอันตรายถึงขั้นทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย
การวิจัยครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ โดย รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง “ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ในระดับชั้น ม.1-3” พบว่าเด็กไทยเกือบร้อยละ 80 มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริง รูปแบบที่ถูกกระทำมากที่สุดคือ การโดนล้อเลียนและการถูกตั้งฉายา ร้อยละ 79.4
นอกจากนี้ยังมีการถูกปล่อยข่าวลือ ถูกนำรูปไปตัดต่อ ถูกข่มขู่ ส่วนบุคคลที่เด็กจะไปปรึกษามากที่สุดคือ เพื่อน ร้อยละ 89.2 รองลงมาคือ ผู้ปกครอง พี่น้อง และครู ทั้งนี้ สะท้อนได้ว่า “เพื่อน” มีอิทธิพลมากที่สุดต่อเด็กวัยรุ่นตอนต้น เมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้งและไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูงมักมีอาการโดดเดี่ยว แยกตัวออกสังคม ซึมเศร้า ใช้สารเสพติด และอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย
ความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กมักถูกกลั่นแกล้งเกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การใช้รูปจริงเป็นรูปโปรไฟล์ การเปิดเผยชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน รวมถึงการใช้บัญชีของเพื่อนที่เข้าระบบค้างไว้ไปกลั่นแกล้งผู้อื่นต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรให้การดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ โดยสังเกตจากอาการที่จะเกิดจากการถูกกลั่นแกล้ง เช่น อาการซึมเศร้า พูดน้อยลง แยกตัว เก็บตัว ผลการเรียนตก ไม่อยากไปโรงเรียน.-สำนักข่าวไทย