สำนักงาน ป.ป.ช.14 มิ.ย.- ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด คณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. กรณีอนุมัติซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2,100 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท โดยมิชอบ
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดของคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กับนายเกษม กลั่นยิ่ง กับพวก รวม 20 คน กรณีอนุมัติซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2,100 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท จาก บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด โดยมิชอบ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด
“คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ นำเงินของกองทุนไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป โดยพิจารณาจากเอกสารของบริษัทที่เชิญชวนเพียงฉบับเดียว ทั้งที่ในหนังสือเชิญชวนได้กำหนดเงื่อนไขว่าจะมีธนาคารเป็นผู้อาวัลเต็มจำนวน ดอกเบี้ยร้อยละ 7 กำหนดเวลา 1 ปี 1 วัน ไม่มีการพิจารณารายละเอียดหรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องของบริษัท และไม่ตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับการอาวัลของธนาคาร ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินสมบูรณ์ตามคำเชิญชวนนั้น และไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีความจำเป็นต้องเร่งรีบพิจารณาและอนุมัติซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัทฯ และหลังจากวันที่อนุมัติเพียง 2 วัน ก็เร่งรีบโอนเงิน 2,100 ล้านบาทให้กับบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด และภายหลังบริษัทฯ ก็ไม่มีการขอให้ธนาคารพาณิชย์ใด ๆ ทำการอาวัลเพื่อรับรองตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว” นายสรรเสริญ กล่าว
เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่า ต่อมาระหว่างที่บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป ยังไม่สามารถหาธนาคารมาอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินได้ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2557 คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ยังอนุมัติเงินเพิ่มอีก 400 ล้านบาท ไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป อีก ทั้งที่ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกยังไม่มีการอาวัล และภายหลังการอนุมัติดังกล่าว ก็ไม่มีการอาวัลเช่นเดียวกัน
นายสรรเสริญ กล่าวว่า กล่าวว่า คณะ อนุกรรมการไต่สวน ที่มีนายปรีชา เลิศกมลมาศ และน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช.เป็นอนุกรรมการ จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่าการกระทำของคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. มีมูลความผิดตามกฏหมายอาญาและความผิดวินัย โดยนายเกษม กลั่นยิ่ง มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
นายสรรเสริญ กล่าวว่า บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด และกรรมการบริษัทที่มีอำนาจลงนามในกรณีดังกล่าว มีความผิดทางอาญาฐานสนับสนุนพนักงานตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ถือเป็นที่สุด จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กับพวก รวม 20 คน ประกอบด้วย 1 นายเกษม กลั่นยิ่ง 2 นายสมศักดิ์ ตาไชย 3 นายสุรเดช พรหมชาติ 4 นายประวิทย์ บึงไสย์ 5 นายนเรศ แสนมูล 6 นายสมศักดิ์ ทองแก้ว 7นายอุดม รูปดี 8 ว่าที่ร.ต.เทพสุจินต์ พงษ์สวัสดิ์ 9 นางปิยธิดา พลน้ำเที่ยง 10 นายนิเทศน์ บัวตูม
11 นายเพทาย ทองมหา 12 นางปิยาภรณ์ เยาวาจา 13 นายพรเทพ มุสิกวัตร 14 นางมยุรี ตัณฑวัล 15 นายสุเทพ ริยาพันธ์ 16 น.ส.กัญญาณัฐ แจ่มมี 17 บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด 18 นายสิทธินันท์ หลอมทอง ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด และในฐานะส่วนตัว 19 นายมงคล เยี่ยงศุภพานนทร์ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัดและในฐานะส่วนตัว 20 นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด และในฐานะส่วนตัว .-สำนักข่าวไทย