ศาลรัฐธรรมนูญ 7 มิ.ย. – มติศาลรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไม่ขัด รธน.
วันนี้ (7 มิ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างหน้า 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2551 มาตรา 40 และมาตรา 41 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ในกรณีดังกล่าวศาลปกครองสงขลาส่งคำโต้แย้งของนางชะรัตน์ เทพสิงห์ ในคดีหมายเลขดำที่ บ. 6 7/2565 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดกระทำการทุจริตในภาครัฐและเป็นกรณีมีมูลความผิดทางวินัยให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายระเบียบหรือข้อบังคับ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ แล้วแต่กรณี
วรรคสอง ที่บัญญัติว่า สำหรับผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งไม่มีกฎหมายระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัยเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวได้กระทำผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป และมาตรา 41 ที่บัญญัติว่าเมื่อได้รับรายงานตามมาตรา 40 ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาลงโทษภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องและให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนส่งสำเนาคำสั่งลงโทษดังกล่าวไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ออกคำสั่งขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่
นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคดีที่ศาลอาญาส่งคำโต้แย้งของนายภาคิน ทิพภาเชาวคุณ และ น.ส.ปรียาภรณ์ แสงตา จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อ 1194/2564 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่าประมวลรัษฎากรมาตรา 90/5 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามหมวดนี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการหรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้นหรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้น กระทำความผิดผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 29 หรือไม่ โดยศาลเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้จึงไม่ทำการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษา หารือ และลงมติในวันพุธที่ 14 มิถุนายนนี้.- สำนักข่าวไทย