กยท.พร้อมสนับสนุนเงินทุนชาวสวนยาง

กรุงเทพฯ  12 มิ.ย. – กยท.ระบุมีผู้ตั้งใจปล่อยข่าวหวังทุบราคายางพารา แนะตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน พร้อมเดินหน้าโครงการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เสนอ ครม.พิจารณา 4 มาตรการพรุ่งนี้ 


นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้พยายามสร้างกระแสข่าวเพื่อหวังให้ราคายางพาราตกต่ำและเก็งกำไรในตลาดซื้อขายยางพารา จึงขอให้เกษตรกรและผู้ประกอบการพิจารณาข้อมูลพร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยยืนยันว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาราคายางพาราร่วง สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน การแข็งค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ  ราคาน้ำมันลดลง และการคาดการณ์สตอกยางของประเทศจีนที่ยังไม่ชัดเจน

พร้อมชี้แจงเงื่อนไขการสนับสนุนเงินทุนให้กู้เพื่อนำมาประกอบอาชีพ นั้น กยท.จัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา ตามมาตรา 49 (3) ประมาณ 2,500 ล้านบาท ให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. คุณสมบัติการกู้ยืมเงินหากเป็นเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยสามารถใช้บุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 2 คน หรือใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้ และสำหรับกลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรต้องมีทุนเรือนหุ้นไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท และมีวินัยทางการเงิน ทั้งนี้ หากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางใดได้รับการผ่อนผัน ขยายเวลาชำระหนี้ ลดหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ประนอมหนี้ และสามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข ถือว่ามีคุณสมบัติที่จะกู้ยืมได้ และสำหรับผู้ประกอบกิจการยาง จะต้องไม่มีหนี้ผิดค้างชำระต่อสถาบันการเงินหรือ กยท.เช่นกัน


ขณะที่นโยบายการส่งเสริมให้โค่นยางพาราปีละ 400,000 ไร่ เป็นกระบวนการบริหารจัดการซัพพลาย เพื่อ สร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานให้เกิดขึ้นกับตลาดโลก ซึ่งเกษตรกรที่ดำเนินการโค่นยางเก่า กยท. จะมีกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในการนำไปปลูกแทนร้อยละ 40 ของเงินกองทุนพัฒนายางพาราเท่านั้น ปัจจุบัน กยท.ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน 200,457 ราย คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1.98 ล้านไร่ โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นปลูกยาง 1,439,903.20 ไร่ ไม้ยืนต้น 79,162ไร่ ปาล์มน้ำมัน 442,370.75 ไร่ และปลูกพืชแบบผสมผสาน 15,561.45  ไร่ ทั้งนี้ หากเกษตรกรที่โค่นแล้วเลือกปลูกแทน จะได้รับเงินสนับสนุนไร่ละ 16,000 บาท โดยหลักจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ได้รับการสนับสนุนเป็นเงินสดโอนเข้าบัญชีเกษตรกร จะเป็นประเภทค่าแรง อาทิ การเตรียมดิน การปลูก และการบำรุงรักษาสวนจนกว่าจะได้ผลผลิต เป็นต้น ประมาณ 5,000 บาทต่อไร่ ส่วนปัจจัยการผลิต อาทิ พันธุ์ยาง ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการดำเนินนโยบายของ กยท.โปร่งใส เป็นธรรม และติดตามทุกโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแน่นอน 

ส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.) เชื่อว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้เป็นอย่างดี สำหรับ 4 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อ วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกไปอีก 1 ปี ถึง 31 มีนาคม 2561 มาตรการขยายระยะเวลาโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ออกไปอีก 90 วัน รองรับเกษตรกรตกค้าง 11,460 ครัวเรือน  มาตรการขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ออกไปถึงเดือนพฤษาคม 2563 และมาตรการขยายระยะเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกไปเป็นเดือนพฤษภาคม 2560- เมษายน 2562 โดยรัฐบาลช่วยสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 โดยใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี