กทม. 24 พ.ค.- กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในระยะเวลาสั้นๆ อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สุรา หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมและกระจายไปทุกส่วนของร่างกายภายในเวลา 5 นาที ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เกิดพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้สมองเสื่อม ความคิดความจำบกพร่อง เกิดไขมันสะสมในตับ ตับอักเสบ และเกิดภาวะตับแข็งตามมา เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยพิษแบบเฉียบพลัน จะทำให้ขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุหรือทะเลาะวิวาทได้ การดื่มแอลกอฮอล์ช่วงแรก จะทำให้ร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ประมาณ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการสับสน มากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้เกิดอาการง่วง สับสน ซึม มึนงง และถ้ามากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป อาจทำให้สลบ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงในระดับนี้ สามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ การรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มและทำให้เสียชีวิตได้
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ในระยะเวลาสั้นๆ อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งอาจมีสัญญาณบ่งบอกและอาการเตือนภาวะสุราเป็นพิษ เช่น เกิดอาการสับสน พูดไม่ชัดหรือพูดไม่รู้เรื่องอย่างหนัก อาเจียน จังหวะการหายใจผิดปกติหรือหายใจช้าลง ตัวเย็นผิดปกติ ผิวหนังซีดหรือกลายเป็นสีม่วง หมดสติ ไม่รู้สึกตัว หรือรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถตอบสนองการรับรู้ได้ ในกรณีที่ภาวะสุราเป็นพิษรุนแรงอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการโคม่า สมองถูกทำลาย และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด ซึ่งหากพบเพื่อนหรือบุคคลใกล้ชิด มีอาการดังกล่าวให้รีบโทรแจ้ง 191 หรือ 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือนำส่งโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์อย่างเร่งด่วน และสามารถให้การดูแลเบื้องต้น โดยการพยายามปลุกให้ตื่นและพยุงให้อยู่ในท่านั่ง ให้ดื่มน้ำเปล่าในกรณีที่สามารถดื่มได้ พยายามทำให้ร่างกายอบอุ่น หากผู้ป่วยเป็นลมหมดสติ ให้จัดนอนในท่านอนตะแคง คอยสังเกตอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมารับ ทั้งนี้หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติด รวมถึงสุรา สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง .-สำนักข่าวไทย