ชัวร์ก่อนแชร์: “ดื่มสุราพอเหมาะ” ดีต่อสุขภาพ จริงหรือ?

20 กันยายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


ข้อมูลที่ถูกแชร์ :

ความเชื่อว่าการดื่มสุราปริมาณไม่สูงเกินไป จะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยหลายชิ้นว่าไม่เป็นความจริง โดยพบว่าการดื่มสุราอย่างต่อเนื่องเพียงเล็กน้อย เพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและโรคหลายชนิด


บทสรุป :

  1. “ดื่มสุราพอเหมาะ” ดีต่อสุขภาพ เป็นความเชื่อผิด ๆ ที่เผยแพร่จากงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. งานวิจัยปี 2023 ไม่พบว่าการดื่มสุราปริมาณน้อย ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตทุกรูปแบบ
  3. WHO ระบุว่าไม่มีปริมาณที่ปลอดภัยจากการดื่มสุรา เนื่องจากแอลกอฮอล์คือสารก่อมะเร็ง โดยความเสี่ยงจะเพิ่มตามปริมาณที่ได้รับ

FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :

เมื่อปี 2023 มีการตีพิมพ์งานวิจัยเชิงวิเคราะห์อภิมานและการปริทัศน์อย่างเป็นระบบ (Systematic Review and Meta-analyses) เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชีวิตประจำวันและความเสี่ยงการเสียชีวิตในทุกรูปแบบ (Association Between Daily Alcohol Intake and Risk of All-Cause Mortality) ทางวารสารออนไลน์ JAMA Network Open ของสมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association)


โดยเป็นการวิเคราะห์งานวิจัยผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 107 ชิ้น ที่เผยแพร่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมวิจัยรวมกันถึง 4.8 ล้านคน

ผลการศึกษาพบว่า การดื่มสุราเพียงเล็กน้อย (25 กรัมต่อวันสำหรับผู้หญิง และ 45 กรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย) ไม่มีความสัมพันธ์ต่อการลดความเสี่ยงการเสียชีวิตในทุกรูปแบบ และความเสี่ยงการเสียชีวิตจะยิ่งเพิ่มตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้รับ

ส่วนผลวิจัยที่เคยระบุว่า การดื่มสุราอย่างเหมาะสมมีผลดีต่อสุขภาพ เป็นบทสรุปที่ผิดพลาดจากการวิจัยที่มีความลำเอียง

ส่วนงานวิจัยปี 2022 ที่ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 3.7 แสนราย พบว่าการดื่มสุราเพียงเล็กน้อยเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ

ด้านงานวิจัยที่เผยแพร่ทางวารสาร Nature เมื่อปี 2022 พบว่าการดื่มสุราเพียง 1-2 ดริ๊งก์ ต่อวัน มีความสัมพันธ์ต่ออาการสมองฝ่อในผู้สูงวัย

ระดับแอลกอฮอล์ที่เหมาะสม

ข้อมูลจาก Dietary Guidelines for Americans 2020-2025 ระบุว่า ในหนึ่งวันผู้ชายไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิน 2 ดริ๊งก์ ผู้หญิงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิน 1 ดริ๊งก์

มาตรฐาน 1 ดริ๊งก์ของสหรัฐอเมริกาจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ 14 กรัม เท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ในสุรากลั่น 1.5 ออนซ์ (42.5 กรัม) ไวน์ 5 ออนซ์ (141 กรัม) และเบียร์ 12 ออนซ์ (340 กรัม)

ที่มาความเชื่อ แอลกอฮอล์เพื่อสุขภาพ

ความเชื่อเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์อย่างพอเหมาะในชีวิตประจำวันส่งผลดีต่อสุขภาพ ได้รับการเผยแพร่มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980s ตัวการสำคัญมาจากงานวิจัยที่นำเสนอภาพลักษณ์ด้านบวกของการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีการเปิดเผยในภายหลังว่ามีงานวิจัยไม่น้อยที่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยยอร์ก สหราชอาณาจักร ที่ตีพิมพ์ทางวารสาร European Journal of Public Health เมื่อปี 2020 พบว่า มีงานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกือบ 13,500 ชิ้นที่ได้รับการสนับสนุนทางตรงหรือทางอ้อมจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

งานวิจัยบิดเบือน

ทิม สตอกเวลล์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ประเทศแคนาดา หนึ่งในทีมวิจัยที่เปิดเผยความเสี่ยงการเสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อธิบายต่อสำนักข่าว Washington Post ว่า งานวิจัยในอดีตที่พบว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสมส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าคนไม่ดื่มหรือคนที่ดื่มมากเกินไป เกิดจากใช้กระบวนการวิจัยอย่างไม่เหมาะสม โดยไม่มีการนำตัวแปรสำคัญมาใช้ในการวิเคราะห์ ทั้ง อายุ เพศ สถานะ รวมถึงกิจวัตรประจำวัน เช่น การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ หรือ การควบคุมอาหาร

เมื่อนำซอฟต์แวร์ทางสถิติมาวิเคราะห์โดยนำตัวแปรทั้งหมดมาคำนวณเพื่อขจัดความลำเอียงในงานวิจัย ก็ไม่พบว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับปานกลางช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตแต่อย่างใด

ทิม สตอกเวลล์ พบความลำเอียงหลายอย่างในงานวิจัยเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอดีต หนึ่งในนั้นคือการพบว่า สาเหตุที่ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสมมักถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มคนมีสุขภาพดีกว่าคนไม่ดื่มหรือคนที่ดื่มมากเกินไป เกิดจากการจัดให้กลุ่มคนที่เลิกดื่มสุราไปแล้ว มาอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่ดื่มสุรา ทั้ง ๆ ที่คนส่วนใหญ่ที่เลิกดื่มสุราเป็นผู้สูงอายุและเลิกดื่มสุราเพราะปัญหาสุขภาพ ส่งผลให้กลุ่มคนที่ดื่มสุราระดับปานกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการดื่มสุรามากนัก มีเกณฑ์ด้านสุขภาพที่ดีกว่ากลุ่มคนไม่ดื่มสุราที่รวมเอาคนหยุดดื่มสุราเพราะปัญหาสุขภาพรวมเอาไว้ด้วย

สอดคล้องกับรายงานปี 2022 ของสมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) ที่ยืนยันว่า แอลกอฮอล์ไม่ส่งผลดีต่อหัวใจ ไม่ช่วยให้อายุยืนยาวขึ้นหรือลดความเสี่ยงโรคหัวใจ การได้รับแอลกอฮอล์ระดับใด ๆ ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งหมด

ทิม สตอกเวลล์ ยอมรับว่า งานวิจัยของเขาอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับจากบรรดานักดื่ม เพราะมีคนอีกมากที่ชอบการสังสรรค์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งสุดท้ายที่พวกเขาอยากได้ยินคือมันส่งผลเสียต่อร่างกาย คนอยากได้ยินงานวิจัยที่บอกว่าการดื่มอย่างพอเหมาะส่งผลดีต่อร่างกาย แต่น่าเสียดายที่บทสรุปดังกล่าวเป็นผลจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่บกพร่องอันเกิดจากความลำเอียง

แอลกอฮอล์คือสารก่อมะเร็ง

เมื่อปี 2023 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่บทความชื่อ No level of alcohol consumption is safe for our health เพื่อเตือนภัยจากความเข้าใจผิดจากแนวคิดการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสุขภาพ

WHO ย้ำว่าแอลกอฮอล์ถือเป็นสารพิษต่อร่างกาย เป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีคุณสมบัติเป็นสารเสพติด

นอกจากนี้ องค์กรวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ยังจัดให้แอลกอฮอล์เป็นสารก่อมะเร็งระดับที่ 1 (IARC group 1 Carcinogens) ระดับเดียวกับยาสูบ แร่ใยหิน และการสัมผัสรังสี

ความเสี่ยงเป็นมะเร็งขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้รับ อย่างไรก็ดี สถิติในทวีปยุโรปพบว่า ครึ่งหนึ่งของสาเหตุการป่วยเป็นมะเร็งจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น มะเร็งเต้านมในผู้หญิง เกิดกับผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณน้อยหรือปานกลางต่อสัปดาห์ (เบียร์ 3.5 ลิตรต่อสัปดาห์ ไวน์ 1.5 ลิตรต่อสัปดาห์ สุรา 0.45 ลิตรต่อสัปดาห์)

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า ระดับแอลกอฮอล์เท่าใดถึงจะทำให้ความเสี่ยงการป่วยเป็นมะเร็งมีผลอย่างชัดเจน ผู้เชี่ยวชาญจึงลงความเห็นว่า ความเสี่ยงจะนับตั้งแต่การดื่มครั้งแรก และเพิ่มตามปริมาณการดื่ม

นอกจากนี้ ยังไม่มีงานวิจัยใดพบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประโยชน์ด้านการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าความเสี่ยงการป่วยเป็นมะเร็งจากการดื่มแอลกอฮอล์

ผู้เสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น

แม้ผลสำรวจจะพบว่า คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะเจน Z (เกิดกลางทศวรรษ 1990s – ต้นทศวรรษ 2010s) ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ให้ความสนใจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง แต่กลับพบว่าความนิยมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรกลุ่มวัยกลางคนกลับเพิ่มขึ้น และส่งผลให้การเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่า ชาวอเมริกันที่เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างปี 2020-21 เพิ่มจากปี 2016-17 ถึง 29.3%

ปัจจัยมาจากความนิยมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด และการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ง่ายขึ้นจากราคาที่ถูกลงเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ หลังสหรัฐฯ ไม่ขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตั้งแต่ปี 1991 พร้อมกับการลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดเมื่อปี 2020

มาร์ก ไคลแมน นักวิจัยเกี่ยวกับนโยบายสารเสพติดให้ความเห็นต่อสำนักข่าว Washington Post ว่า หากมีการเพิ่มภาษีสุราขึ้นเป็น 3 เท่า คดีฆาตกรรมจะลดลงทันที 6% โดยไม่ต้องจับนักโทษเข้าไปในคุกเพิ่มแม้แต่คนเดียว

นโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในต่างประเทศ

ในปี 2023 ประเทศแคนาดา ได้เปลี่ยนระดับความเสี่ยงของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยความเสี่ยงต่ำ (low risk) ควรดื่มไม่เกิน 1-2 ดริ๊งก์ต่อสัปดาห์ ความเสี่ยงปานกลาง (moderate risk) ควรดื่มไม่เกิน 3-6 ดริ๊งก์ต่อสัปดาห์ (จากเดิมระบุว่าผู้หญิงไม่ควรเกิน 2 ดริ๊งก์ต่อวัน ผู้ชายไม่ควรเกิน 3 ดริ๊งก์ต่อวัน)

ในปี 2023 ประเทศไอร์แลนด์เป็นชาติแรกที่ผ่านกฎหมายบังคับการติดฉลากเตือนภัยโรคมะเร็งที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2026 นี้

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.who.int/europe/news/item/04-01-2023-no-level-of-alcohol-consumption-is-safe-for-our-health
https://www.washingtonpost.com/wellness/2023/03/31/moderate-drinking-alcohol-wine-risks/
https://www.nytimes.com/2024/06/15/magazine/alcohol-health-risks.html
https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2802963

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ประหารชีวิตแอมไซยาไนด์

ศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต “แอม ไซยาไนด์”

ศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต “แอม ไซยาไนด์” ส่วนอดีตสามี คุก 1 ปี 4 เดือน “ทนายพัช” คุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ชดใช้ ให้ผู้เสียหายกว่า 2 ล้านบาท

นายกฯ ถกตั้งนายพลตำรวจ 41 ตำแหน่ง ยันไม่มีการเมืองแทรก

นายกฯ ถกแต่งตั้งนายพลตำรวจ 41 ตำแหน่ง ยันไม่มีการเมืองแทรก ยึดตาม พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับใหม่ พลิกโผ ‘สยาม บุญสม’ ผงาดคุมนครบาล ‘สันติ ชัยนิรามัย’ นั่ง ผบช.ปส. ‘ไตรรงค์ ผิวพรรณ’ โยกคุมไซเบอร์ ‘ภาณุมาศ บุญญลักษม์’ ขึ้นเป็น ผบช.สตม.

ดีเอสไอพบเส้นเงินโอนจากแม่ถึงนักการเมือง ส. เกือบ 100 ล้าน

ดีเอสไอพบเส้นเงินโอนจากแม่ถึงนักการเมือง ส. เกือบ 100 ล้านบาท จำนวนนี้พบโอนจาก “บอสพอล-บอสปีเตอร์” ด้วย เร่งขยายผลมีบอสรายอื่นโอนเข้าบัญชีดังกล่าวอีกหรือไม่

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เผยเหนือ-อีสาน อากาศเย็นในตอนเช้า ภาคใต้ฝนตกหนักบางแห่ง

กรมอุตุฯ เผยภาคเหนือ ภาคอีสาน มีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

“เอวา” เสือโคร่งสายแบ๊ว ดาวรุ่งดวงใหม่

หน้าตาที่น่ารักบ้องแบ๊วเหมือนแมวตัวโต ตกหัวใจคนรักสัตว์กันไปเต็มๆ สำหรับน้องเอวา เสือโคร่งสายแบ๊วของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี นอกจากหน้าตาน่ารักแล้วยังมีความสามารถหลายอย่าง จนกลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ ที่ผู้คนแห่ไปชมความน่ารักกันอย่างคึกคัก คาดจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวไปที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ต้อนรับอบอุ่น “โอปอล” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 ถึงไทย

กลับถึงไทยแล้ว “โอปอล สุชาตา” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 ปรากฏตัวในชุดไทย สวยสง่า แฟนนางงามต้อนรับอย่างอบอุ่น

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก