นนทบุรี 17 พ.ค. – ผอ.สนค. เผยยอดส่งออกกุ้งขาวและผลิตภัณฑ์ ปี 65 มีปริมาณ 98,800.1 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,072.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 83.4 จากปีก่อนหน้า แม้ผลผลิตลดลงเล็กน้อย ระบุหลังปรับแนวทางเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ทำให้กุ้งไทยส่งออกเพิ่มขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดทำแดชบอร์ดสินค้าเกษตร ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ล่าสุดได้เผยแพร่แดชบอร์ดกุ้งขาวแวนนาไม (กุ้งขาว) โดยรวบรวมข้อมูลตั้งแต่การผลิต ราคา ตลาดส่งออกของไทย และโอกาสในการขยายการส่งออก ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www. คิดค้า .com โดยในปี 2565 ไทยมีผลผลิตกุ้งขาวประมาณ 2.4 แสนตัน ลดลงร้อยละ 0.07 จากปีก่อนหน้า มีพื้นที่เพาะเลี้ยงทั่วประเทศกว่า 2.7 แสนไร่ และมีจำนวนฟาร์ม 22,336 แห่ง ผลผลิตส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ (ร้อยละ 62.34 ของผลผลิตทั้งประเทศ) รองลงมา คือ ภาคตะวันออก (ร้อยละ 25.06) และภาคกลาง (ร้อยละ 12.60) สำหรับ 3 จังหวัดแรกที่มีผลผลิตสูงสุด คือ สุราษฎร์ธานี (40,950 ตัน) ฉะเชิงเทรา (20,356 ตัน) และตรัง (18,740 ตัน) จังหวัดที่มีพื้นที่เพาะเลี้ยงมากที่สุด คือ ฉะเชิงเทรา นครปฐม และจันทบุรี ตามลำดับ สำหรับในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 มีผลผลิตกุ้งขาวทั่วประเทศ ประมาณ 4.5 หมื่นตัน ลดลงร้อยละ 2.14 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ในด้านราคา พบว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 ราคาเฉลี่ยกุ้งขาวของไทยที่เกษตรกรขายได้ (ขนาด 51-60 ตัว/กิโลกรัม) อยู่ที่ 175.6 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคากุ้งปากบ่อของประเทศผู้นำตลาด (ขนาด 50 ตัว/กิโลกรัม) เช่น เอกวาดอร์ และอินเดีย มีราคาต่ำกว่าไทย (106.5 และ 137.5 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ) ขณะที่เวียดนาม มีราคาสูงกว่าไทย (180.3 บาท/กิโลกรัม) โดยการส่งออกของไทย ในปี 2565 ไทยส่งออกกุ้งขาวและผลิตภัณฑ์ เป็นปริมาณ 98,800.1 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,072.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 83.4 จากปีก่อนหน้า) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กุ้งขาวมีชีวิต สด แช่เย็น และแช่แข็ง 576.91 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 784.0) (2) กุ้งขาวปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย ไม่บรรจุในภาชนะที่อากาศผ่านไม่ได้ 174.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (หดตัวร้อยละ 17.8) และ (3) กุ้งขาวปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย บรรจุในภาชนะที่อากาศผ่านไม่ได้ 320.88 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 5.3) ตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน มีสัดส่วนร้อยละ 27.0 27.0 และ 17.6 ของมูลค่าการส่งออกกุ้งขาวของไทย ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกกุ้งขาวไปสามประเทศดังกล่าว รวมกันมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกกุ้งขาวทั้งหมดของไทย
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบการส่งออกสินค้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ของโลก ในปี 2564 โลกส่งออกเป็นมูลค่า 26,429.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) อินเดีย (ร้อยละ 21.7 ของมูลค่าการส่งออกของโลก) (2) เอกวาดอร์ (ร้อยละ 19.5) (3) เวียดนาม (ร้อยละ 14.8) (4) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 8.4) (5) จีน (ร้อยละ 7.5) โดยไทยเป็นอันดับ 6 (ร้อยละ 5.5) ดังนั้น หากพิจารณามูลค่าการส่งออกของไทย พบว่ามากกว่าร้อยละ 50 เป็นการส่งออกในรูปแบบกุ้งขาวมีชีวิต สด แช่เย็น และแช่แข็ง ซึ่งเป็นเพียงการผลิตขั้นต้น ดังนั้น ไทยยังสามารถพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงขึ้น หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา (เอกวาดอร์ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในรูปแบบกุ้งแช่แข็ง ขณะที่จีนส่งออกกุ้งปรุงแต่งในสัดส่วนที่มากกว่า) ซึ่งพบว่าราคาส่งออกเฉลี่ยของโลก (ข้อมูลปี 2563 ล่าสุด) ของสินค้า 3 กลุ่ม ดังนี้ (1) กุ้งมีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง มีมูลค่า 6,972 เหรียญสหรัฐ/ตัน (2) กุ้งปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย ไม่บรรจุในภาชนะที่อากาศผ่านไม่ได้ มีมูลค่า 9,876 เหรียญสหรัฐ/ตัน และ (3) กุ้งปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย บรรจุในภาชนะที่อากาศผ่านไม่ได้ มีมูลค่า 10,628 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ทั้งนี้ ภาครัฐไทยกำหนดเป้าหมายเพิ่มผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ถึง 4 แสนตัน ในปี 2566 และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโรคระบาด การเข้าถึงสินเชื่อของเกษตรกร สร้างช่องทางการขาย และนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นอกจากนี้ สนค. เห็นว่า ผู้ประกอบการควรมุ่งผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และไทยต้องเร่งพัฒนาสู่การเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงต่อไป. – สำนักข่าวไทย