กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – ตลาดหุ้นไทยภาคบ่ายร่วงลงต่อไปเป็นกว่า 20 จุด ไม่มั่นใจการจัดตั้งรัฐบาลใหม่กังวลผลกระทบจากนโยบายหาเสียง ทั้งค่าแรง รื้อสัญญาโรงไฟฟ้า
หุ้นไทย เมื่อเวลา 15.52 น. ร่วง 23.71 จุด หลังหลุดแนวรับ 1,550 จุด ผลกระทบทางจิตวิทยาระยะสั้น จากความไม่มั่นใจว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคก้าวไกล รวมทั้งกังวลผลกระทบจากนโยบายหาเสียงของพรรคแกนนำหลักที่จะจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่ช่วงเช้าปรับตัวลงกว่า 10 จุด จากแรงขายหุ้นใหญ่ (Big cap) เพื่อลดความเสี่ยงกังวลการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังมีความไม่แน่นอน
แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะชนะการเลือกตั้ง และประกาศรวม 6 พรรคจัดตั้งรัฐบาล คือ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม ราว 309 เสียง แต่ยังไม่ถึง 376 เสียง จึงยังต้องลุ้นเสียงโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 เสียง ตลาดประเมินจะเห็นความชัดเจนในช่วงปลายเดือน ก.ค. ถึงต้น ส.ค. และยังต้องติดตามการรับรองผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วยว่าจะทำให้คะแนนเสียงเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุภาพรัฐบาลใหม่ อาจมีจำนวน ส.ส. 307-370 เสียง ซึ่งเป็นระดับที่มีเสถียรภาพ น่าจะหนุนให้ทิศทางเป็นไปตาม Base Case คือปลายปี ลุ้น 1,748-1,780 จุด ถือเป็นภาพบวกในส่วนการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ในระยะกลาง อิงสถิติ SET มักบวกหลังการเลือกตั้งราว 1 สัปดาห์-1 เดือน เฉลี่ยราว 2.77% และหลังจากนั้นจะอิงพัฒนาการจัดตั้งรัฐบาลที่จะมีผลต่อเรื่องการอนุมัติงบประมาณประจำปี 2567 และความเชื่อมั่นต่อทีมเศรษฐกิจเป็นหลัก
ทั้งนี้ นโยบายหลักพรรคแกนนำก้าวไกลที่มีแนวโน้มสนับสนุนรัฐสวัสดิการ รวมถึงการเติบโตธุรกิจขนาดกลาง-เล็กกลุ่มมองบวก คือ กลุ่มหุ้นที่อิงเศรษฐกิจภายในจากการกระจายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น แต่เป็นจิตวิทยาลบต่อหุ้นใหญ่ที่มีการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้อย จากทิศทางนโยบายของพรรคผู้ชนะการเลือกตั้งที่เคยให้ความเห็นไว้
ส่วนค่าแรงขั้นต่ำตามที่ก้าวไกลประกาศไว้ คือขึ้นเป็น 450 บาท ทันทีในปีนี้ เพิ่ม 33.5% จากค่าแรงปัจจุบัน นับเป็นผลกระทบด้านลบต่อกลุ่มอิงแรงงานสูง อาทิ ร้านอาหาร, รับเหมา, โรงแรม, อสังหาฯ และสถานีบริการน้ำมัน ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานปรับเพิ่มตั้งแต่ปีหน้า โดยให้ปัจจัยอื่นคงที่ จึงประเมินทุกๆ 10% ที่ปรับขึ้นจะกระทบกำไรตลาดราว 2.3 พันล้านบาท การขึ้น 33.5% จะกระทบราว 7.7 พันล้านบาท กระทบกำไรตลาดต่อหุ้นน้อยกว่า 1 บาท นอกจากนี้แรงขับเคลื่อนหลักตลาดจะมาจากผลการเลือกตั้งในประเทศที่มีแนวโน้มเห็นการ
นายธนิต โสรัตน์ ประธานกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ประธานสภาที่ปรึกษาพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ก.แรงงาน กล่าวว่า ทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ประกาศเรื่องค่าแรงไว้ในช่วงหาเสียง เพราะกลุ่มลงคะแนนเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานไม่ต่ำกว่า 23-24 ล้านคน แต่อยากให้ทำความเข้าใจว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วก็ต้องดูทั้งเรื่องกฏหมายที่ค่าแรงจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการไตรภาคี พ.ร.บ.แรงงานฯ ในขณะที่สถานประกอบการ 8.5 แสนราย ที่จ้างแรงงานกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็ก และรายได้จากการส่งออกของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนจีดีพี ร้อยละ 54 ส่วนใหญ่จ้างแรงงานเข้มข้น
“ผลกระทบจะตามมาอีกมากหากขึ้นค่าแรงแบบฮวบๆ ทั้งแข่งขันไม่ได้ และหากขึ้นจริงอีก 6 เดือน อาจจะเห็นการย้ายฐานครั้งใหญ่ ดังนั้น หากจะขึ้นขอให้เป็นไปตามกฏหมาย มองบริบทเศรษฐกิจ และกำหนดเพดานเหมือนกับที่พรรคเพื่อไทยมองไว้ว่าอีก 5 ปี จะปรับอย่างไร เพราะหากพรรคการเมืองใช้แค่ค่าแรงงานมาจูงใจ แล้วขึ้นค่าแรงมาจริงๆ ประเทศอื่นๆ คงขึ้นค่าแรงกันหมด โดยไม่ต้องเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งขอยกตัวอย่างค่าแรง กทม. ขั้นต่ำ 353 บาท/วัน หากขึ้นเป็น 450 บาท/วัน ทันที ค่าจ้างต่อคนก็จูงขึ้นทันที 2,900 บาท/เดือน“ นายธนิต กล่าว
นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแต่ละพรรคมีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ดีอยู่แล้ว เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะเรืองปากท้องของประชาชน ดังนั้น เชื่อว่าไม่ว่าใครก็ตามที่มาเป็นรัฐบาลใหม่จะให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้อย่างแน่นอน
ส่วนหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าในวันนี้ปรับตัวลงรับความกังวลนโยบายรัฐบาลใหม่จะรื้อสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมุ่งเป้าหมายลดค่าไฟฟ้า โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าทำได้ยากเพราะเป็นสัญญาระหว่างเอกชนและรัฐบาลที่ดำเนินการร่วมกัน.-สำนักข่าวไทย