เชียงใหม่ 12 ธ.ค.-เกษตรกรผู้ปลูกดอกเบญจมาศใน จ.เชียงใหม่ ได้รับการส่งเสริมจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แนะนำให้ปลูกดอกเก๊กฮวยอินทรีย์ทดแทน หลังประสบปัญหาโรคแมลงและราคาดอกเบญจมาศผันผวน ซึ่งดอกเก๊กฮวยอินทรีย์นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายเท่า
ดอกเก็กฮวยสีเหลืองสด บานสะพรั่งอวดความสวยงามเต็มท้องทุ่งที่เห็นอยู่นี้ เป็นแปลงเก๊กฮวยอินทรีย์ ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ทดลองปลูกบนพื้นที่ 3 ไร่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการบ้านปงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปลูกทดแทนดอกเบญจมาศ ไม้ตัดดอกที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านมานานกว่า 20 ปี แต่ช่วงหลังมานี้ราคาผันผวน ปัญหาโรคแมลงสูง จึงสนับสนุนให้ปลูกเก็กฮวยอินทรีย์เป็นที่แรกของประเทศ
เก๊กฮวยอินทรีย์ที่นำมาปลูกเป็นพันธุ์สีเหลือง ต้นพันธุ์ได้มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แล้วนำมาเด็ดชำในแปลง เริ่มปลูกเดือนสิงหาคม ระหว่างนี้ให้ปุ๋ยหมักและน้ำหยด กระทั่งดอกบานเต็มที่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจึงทยอยเก็บเกี่ยว ดอกเก็กฮวยที่เก็บเกี่ยวแล้ว จะนำไปนึ่งและตากในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ขั้นตอนสุดท้ายคือการอบแห้ง ก่อนบรรจุเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งชาเก็กฮวยและเก็กฮวยอบแห้ง ดอกเก็กฮวยสดราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท แต่ถ้าแปรรูปอบแห้งราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 1,500 บาท สาเหตุที่ราคาสูงเพราะเป็นที่ต้องการของตลาด แถมยังมีสรรพคุณป้องกันโรคต่างๆด้วย
เก๊กฮวยอินทรีย์เป็นพืชระยะสั้นที่ปลูกและดูแลรักษาง่าย ลงทุนต่อไร่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่ให้ผลตอบแทนสูงเกือบ 100,000 บาท หากลงทุนแปรรูปอบแห้งจะได้กำไรเท่าตัว นอกจากนี้ตลาดเก๊กฮวยอินทรีย์เปิดกว้างทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นพืชอีกชนิดที่มีอนาคตสำหรับเกษตรกร.-สำนักข่าวไทย