สำนักข่าวไทย 26 เม.ย.- หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาฯ ย้ำ ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจวิเคราะห์หาสารพิษจากไซยาไนด์โดยตรง แต่สามารถสังเกตอาการร่วมกับการตรวจเลือดเพื่อหาสารข้างเคียง เผยทุก รพ.สำรองยาต้านพิษไว้รักษาผู้ป่วย
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงไซยาไนด์ ว่า เป็นสารหรือของเหลวที่มีความอันตรายสูง จะออกฤทธิ์ค่อนข้าวเร็ว ทำให้หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ช็อก และเสียชีวิตได้ ด้วยอาการเบื้องต้นมีอาการทางระบบประสาทและอาการระบบหัวใจ ซึ่งอาจเข้าได้กับโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจ แต่คนที่ได้รับสารพิษจากไซยาไนด์ จะมีอาการภายนอกที่สังเกตได้ คือ ตัวจะแดงมากกว่าผิวสีปกติ ดังนั้น หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอให้ตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะได้รับไซยาไนด์เข้าไป แล้วรีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อจะได้วิเคราะห์รักษา ทั้งนี้ในปัจจุบันทุกโรงพยาบาลยังไม่สามารถตรวจหาสารพิษจากไซยาไนด์ได้โดยเฉพาะ เพียงแต่ใช้สังเกตอาการที่ได้รับร่วมกับการตรวจเลือดเพื่อหาสารข้างเคียงที่จะรู้ว่าได้รับผลกระทบจากไซยาไนด์
ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการสำรองยาต้านพิษเอาไว้ โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างศูนย์พิษรามาฯ อภ. อย. และ สปสช. ทำให้ในทุกโรงพยาบาลมีการสำรองยาต้านพิษเอาไว้รักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะ ซึ่งหากได้รับพิษในทันทีและได้รับการรักษากู้วิกฤติก็สามารถกลับมามีชีวิตได้ตามปกติ ส่วนที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ได้รับสารพิษชนิดนี้มักจะมีมือและเล็บดำนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ความจริง โดยปกติของผู้เสียชีวิตทุกราย มักมีมือและเล็บดำเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับสารพิษแต่อย่างใด .-สำนักข่าวไทย