กระทรวงการคลัง 25 เม.ย. – คลังปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 66 ขยายตัวร้อยละ 3.6 หลังส่งออกชะลอตัว เผยรับแรงหนุนจากการบริโภค การท่องเที่ยว ระบุค่าไฟแพง มี.ค.-เม.ย. ส่งผลต่อเงินเฟ้อเล็กน้อย เตรียมแผนใช้งบปี 66 พลางก่อน รอรัฐบาลใหม่
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า กระทรวงการคลัง ปรับเป้าหมายจีดีพีไทยปี 66 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากเดิมคาดการณ์ร้อยละ 3.8 โดยมีสมมติฐานจากการเติบโตเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า 15 ประเทศ ยังขยายตัวร้อยละ 2.8 ลดลงจากปี 65 ขยายตัวร้อยละ 3.4 ท่ามกลางสภาวะการเงินตึงตัว หนี้สินเพิ่ม ปัญหาโควิด-19 ระบาดอีกรอบ คาดการณ์ค่าเงินบาททั้งปี 33.17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว คาดว่าเฟดจะยุติเพิ่มดอกเบี้ยในปีนี้ หลังเงินเฟ้อสหรัฐ ร้อยละ 5-6 เพิ่มลดลงสู่เป้าหมาย
คาดการณ์ว่า ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 29.5 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 164.6 ต่อปี จากเดิมคาด 27.5 ล้านคน นักท่องเที่ยวใช้จ่ายต่อคนต่อทริป 43,891 บาท คาดว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.3 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 255.9 ต่อปี คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.5 การลงทุนภาครัฐขยายตัว ร้อยละ 2.6 เพราะขั้นตอนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา
ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 1-3 เนื่องจากราคาพลังงานโลกลดลง ทำให้แรงกดดันด้านอุปทานจากต้นทุนพลังงาน และราคาน้ำมันคลี่คลายลง ไทยกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มกลับมาเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP
นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากการยุบสภาเข้าสู่การเลือกตั้ง ดังนั้น ในช่วงนี้จึงยึดหลักการใช้งบประมาณปี 66 ไปพลางก่อน ในระหว่างรอการจัดทำงบประมาณปี 67 ภายใต้กรอบ 3.35 ล้านล้านบาท ซึ่งยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณ ขณะนี้หลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาท แม้จะมีช่องว่างในการกู้เงินเพิ่มเติมจากยอดหนี้สาธารณะกว่าร้อยละ 60 ของจีดีพี แต่ไม่ควรกู้เต็มเพดาน นอกจากนี้ต้องติดตามดูว่า รัฐบาลใหม่จะเสนอนโยบายต่อสภาอย่างไร เพื่อเดินหน้าจัดสรรงบประมาณปี 67
ขณะนี้กระทรวงการคลัง ยังเดินหน้าบริหารงบประมาณตามแผนระยะปานกลาง ปี 66-70 ด้วยการมุ่งลดการขาดดุลงบประมาณไม่ให้เกินร้อยละ 3 ต่อจีพีดี หลังจากรัฐบาลได้กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท มาใช้ฟื้นฟูและเยียวยาปัญหาโควิด-19 เหมือนกับหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น การขาดดุลงบประมาณต้องสมเหตุสมผล หลังจากนี้ต้องพยายามไม่ให้เกิดภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลควรอยู่ประมาณร้อยละ 16-17 ของจีดีพี แต่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 14 การกู้เงินเพิ่มเติมต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าไฟฟ้าแพงในปัจจุบัน แม้จะเป็นรายจ่ายของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 ยอมรับว่า ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยมาก เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ประปา น้ำมัน มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5.5 ของอัตราเงินเฟ้อโดยรวมทั้งหมด มองว่าค่าไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อให้พุ่งสูงขึ้น.-สำนักข่าวไทย