กรุงเทพฯ 24 เม.ย.-บอร์ด กกพ. เห็นชอบลดค่าไฟฟ้า งวด 2/66 ทำให้ลดลงได้จากงวด 1/66 อีก 2 สตางค์/หน่วย รอลุ้นงวด 3/66 จะลดลงอีกหรือไม่ ปัจจัยหลักการผลิตของแหล่งเอราวัณต้องมาตามแผน และราคาแอลเอ็นจีโลกต้องอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่วนการยืดหนี้ของ กฟผ.เผยกระทบต้นทุนค่าไฟ 700 ล้านบาท/งวด หรือกว่า 1 สตางค์/หน่วย ผลกระทบต่ออาจทำให้ กฟผ.จ่ายเงินเข้ารัฐล่าช้าลงอีก
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)นัดพิเศษวันนี้(24เม.ย.)พิจารณาปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร(เอฟที)งวด2/66(พ.ค.-สค.)ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เสนอพร้อมรับภาระค่าเอฟทีลดลง 7 สต.ทำให้ค่าไฟฟ้า ค่าเอฟทีลดลงจากเดิมที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาทต่อหน่วยเป็นอัตราเอฟทีใหม่จะอยู่ที่ 91.19 สตางค์และค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ4.70บาท/หน่วย นับว่าเป็นอัตราที่ลดลงจากงวด 1/66 อีก 2 สตางค์/หน่วยเพราะงวดนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย
สำหรับการลดค่าเอฟทีได้นั้น เนื่องจาก กฟผ.ขยายเวลารับภาระหนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนที่วงเงินล่าสุดเหลือประมาณ1.3แสนล้านบาท (จากหนี้รวม 1.5 แสนล้านบาท )โดยงวดนี้ กฟผ.จะได้คืนหนี้คิดเป็นค่าเอฟที 27.82สตางค์/หน่วย(18,158ล้านบาท)จากเดิมจะได้คืน34.90 สตางค์(22,781ล้านบาท)หรือได้คืนลดลง4,623ล้านบาท
โดยมติ กกพ.มีผลทันทีโดยไม่ต้องรับฟังความเห็นประชาชนรอบใหม่เนื่องจากสมมุติฐานอื่นๆไม่เปลี่ยนแปลง ยกเว้นกรณีการปรับเลื่อนคืนหนี้ .กฟผ.จากเดิมคืนหนี้ให้หมดภายใน2ปีหรือ6งวด(ม.ค66-ธ.ค.67)ก็เลื่อนเป็น7งวด(ม.ค.66-เม.ย.68)อย่างไรก็ตามความเห็นหน่วยงานเกี่ยวข้องเช่นกระทรวงการคลังต่างระบุไม่ขัดข้องเรื่องการยืดหนี้รอบนี้ แต่ให้ระมัดระวังเงินกู้และการเงิน ของ.กฟผ.ที่อาจประสบปัญหาสภาพคล่องในงวดต่อๆไปและอาจกระทบต่อเครดิตเรตติ้ง
“ส่วนค่าไฟฟ้าที่ขณะนี้บ่นกันมากว่าแพงขึ้นก็ขอชี้แจงว่า งวดเดือน มี.ค. –เม.ย.ค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ปรับขึ้นแต่อย่างใดยังคิดที่เฉลี่ย 4.72 บาท/หน่วย แต่จากอากาศร้อน เครื่องใช้อากาศทำงานหนัก ค่าไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้แยอะยิ่งจ่ายแพง และหากใช้เงิน 300 หน่วยต่อเดือนก็ไม่มีส่วนลดจากรัฐบาล ก็ยิ่งทำให้ค่าไฟพุ่งขึ้น”นายคมกฤชกล่าว
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)กล่าวว่า กฟผ.พร้อมร่วมรับภาระค่าไฟงวด2/66เพราะประเมินรอบด้านแล้วฐานะการเงินยังพอรับได้แต่ในงวดถัดๆไปคงไม่สามารถรับภาระเพิ่มได้อีก โดยแต่ละงวดนั้นต้นทุนดอกเบี้ยจะมีราว700ล้านบาทหรือเทียบค่าไฟเอฟทีสูงกว่า1สตางค์ต่อหน่วยซึ่งกระทบต่อค่าไฟในที่สุดดังนั้นข้อเสนอเอกชนที่ให้ยืดหนี้ไปเป็น3ปีหรือ9งวดก็กระทบค่าไฟเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ในขณะเดียวกันในงวด2/66ที่กฟผ.ได้รับชำระหนี้ช้า4,623ล้านบาท .ทาง กฟผ.ก็จะรอดูสมมุติฐานโดยรวมว่าต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติจะผิดไปจากแผนงานที่ บมจ.ปตท.นำเสนอหรือไม่และการใช้ไฟภาพรวมผิดจากแผนมากน้อยเพียงใด เช่น เดือนม.ค.-มี.ค.66อากาศเย็นทำให้การใช้ไฟต่ำกว่าแผนและทำให้ กฟผ.ได้เงินคืนต่ำกว่าแผน 750ล้านบาทดังนั้น หาก กฟผ.ได้รับผลกระทบจากการผิดแผนก็อาจจะเจรจากระทรวงการคลังเลื่อนการนำเงินส่งรัฐ4,623ล้านบาทจากที่ต้องนำส่งรายได้ปี65วงเงิน 18,000 ล้านบาทในเดือนก.ย.66และงวดแรกปี66 อีก9,000ล้านบาทในเดือนต.ค.66 ในขณะที่กฟผ.มีวงเงินกู้เสริมสภาพคล่อง ที่ครม.อนุมัติไว้ 2รอบรวม1.1แสน และเงินกู้เบิกโอดีได้อีก 3 หมื่นล้านบาท
คมกฤช ยังกล่าวถึงข้อเสนอเอกชนที่ให้ ลดค่าไฟงวด 2/66 ลงเหลือ 4.40 บาท/หน่วย เพราะราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ตลาดโลกลดลงว่า ในการพิจารณานั้นเป็นการตั้งสมมุติฐานล่วงหน้า ดังนั้น หากราคำนวณสุดท้ายลดลงจริงก็จะนำไปลดในงวดถัดไป หรืองวดที่ 3/66 ( ก.ย.-ธ.ค.) อย่างไรก็ตาม ในงวด 3/66 ราคาจะลดต่ำกว่า 4.70 บาท/หน่วยหรือไม่นั้น ก็ยังมีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาหลายปัจจัยทั้งค่าเงินบาท เรื่องปริมาณก๊าซอ่าวไทย โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณจะขึ้นได้ตามแผนงานหรือไม่ โดยขณะนี้ยังผลิตไม่ได้ถึง 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเบื้องต้นทราบว่าจะล่าช้าลงอีกจากเดิมที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติรายงานว่า เดือน ก.ค. 66 จะผลิตได้ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและ สิ้นปีนี้ 66 จะผลิตได้ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหาก ผลิตได้ต่ำก็ต้องพึ่งพานำเข้าแอลเอ็นจี และปกติแล้วช่วงหน้าหนาวค่าแอลเอ็นจีจะแพงกว่านี้ และหาก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์มีเพิ่มเติมก็จะกระทบต่อราคาอีก ก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟแพงขึ้นด้า
นายคมกฤช ยังกล่าวถึงมีผู้เสนอให้ยกเลิกค่าเอฟทีว่า เรื่องนี้ คงต้องดูความพร้อมทั้งหมด ค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ภายใต้มาตรการกำกับดูแลให้เกิดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนต่ำที่สุด คิดจากต้นทุนค่าไฟฟ้าฐาน ปรับทุก5 ปีและบวกด้วยค่าเอฟทีที่เกิดจากต้นทุนการเปลี่ยนแปลงค่าเชื้อเพลิงและอื่นๆทุก 4 เดือน และยังมีค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากปรับยกเลิกไม่มีเอฟที แล้วจะคิดค่าไฟฟ้าแบบใด เป็นกลไกเสรีเช่น กลุ่มยุโรป หรือมี 2 ระบบเหมือนกับสิงคโปร์ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าระบบเสรีนั้น ต้นท้นค่าไฟแพงขึ้น 3 เท่า เพราะสะท้อนต้นทุนราคาก๊าซฯที่พุ่งกระฉูด ส่วนข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมพลังงานทดแทนนั้นทาง สำนักงาน กกพ.พร้อมสนับสนุน ตามฝ่ายนโยบายทั้งหมด.-สำนักข่าวไทย