วิธีหลอก : ปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์เป็นบุคคลที่เรารู้จัก
อุบาย : พูดคุยสร้างความน่าเชื่อถือ ใช้ความรัก หรือคำพูดที่ดูน่าสงสาร มาหลอกลวงให้โอนเงิน
ช่องทาง : แอปพลิเคชัน LINE และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ
ตำรวจไซเบอร์เตือนประชาชน ระมัดระวังมิจฉาชีพปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์เป็นบุคคลที่รู้จัก สร้างโปรไฟล์ปลอมมาพูดคุย ใช้ความรัก และคำพูดที่ดูน่าสงสาร หลอกให้เหยื่อโอนเงินให้ ทำให้สูญเงินจำนวนหลายแสนบาท
กรุงเทพฯ 20 เม.ย. 66 – พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ฝากเตือนประชาชน ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีผู้เสียหาย ซึ่งเป็นภรรยาของนักร้องเพลงร็อกชื่อดัง ถูกมิจฉาชีพใช้บัญชีไลน์ปลอมของบุตรชายติดต่อเข้ามาพูดคุย สร้างความน่าเชื่อถือโดยการใช้ชื่อบัญชี ภาพโปรไฟล์ปลอม ใช้ความรัก และคำพูดที่ดูน่าสงสาร เพื่อหลอกลวงผู้เสียหายให้เชื่อว่า เป็นบุตรชายของตนจริง กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อรีบโอนเงินให้มิจฉาชีพจำนวนหลายแสนบาท ต่อมาทราบว่าถูกหลอกลวงจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
สถิติความเสียหายรวมมากกว่า 312 ล้านบาท
บช.สอท. ได้เปิดเผยรายงานสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 65 – 16 เม.ย. 66 พบว่า การหลอกลวงเป็นบุคคลอื่น เพื่อยืมเงินนั้น มีประชาชนแจ้งความร้องทุกข์กว่า 8,342 เรื่อง หรือคิดเป็น 3.48% ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 312 ล้านบาท
สุ่มโทรหาเหยื่อ สวมรอยเป็นบุคคลที่รู้จัก หลอกลวงให้โอนเงิน
โฆษก บช.สอท. ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อหลอกลวงประชาชนในลักษณะดังกล่าวแล้ว มิจฉาชีพยังใช้วิธีการสุ่มโทรศัพท์หาเหยื่อ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่ได้จากการค้นหาผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เช่น Whoscall, Get Contact เป็นต้น เริ่มจากการถามไถ่ว่า เหยื่อเป็นอย่างไรบ้าง รู้หรือไม่ว่าผู้ใดโทรมา เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อพูดชื่อของบุคคลนั้นออกมาแล้วทำการสวมรอยทันที โดยอ้างว่าได้เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ ขอให้เหยื่อลบหมายเลขเดิมแล้วบันทึกเบอร์ดังกล่าวเอาไว้ ต่อมามิจฉาชีพจะโทรศัพท์หาเหยื่ออีกครั้ง เพื่อขอยืมเงินอ้างเหตุผลต่าง ๆ เช่น ต้องใช้เงินด่วนไม่ได้เอาเงินมา บิดามารดาเจ็บป่วย เพื่อขอยืมเงินจากเหยื่อ และสัญญาจะคืนให้ในเวลาไม่นาน สุดท้ายก็หลบหนีไป ฉะนั้นไม่ว่าจะทำธุรกรรมการเงินใด ๆ ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ และมีสติอยู่เสมอ
ฝากเตือนถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงปลอมเป็นบุคคลอื่น เพื่อหลอกยืมเงิน 8 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ตรวจสอบก่อนว่า เป็นบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของบุคคลนั้นจริงหรือไม่ โดยการตรวจสอบประวัติการสนทนาที่ผ่านมา
2. หากเป็นกรณีการเพิ่มเพื่อนใหม่ ควรตรวจสอบอย่างละเอียด ไม่เชื่อเพียงเพราะว่า ใช้ชื่อบัญชี และรูปโปรไฟล์เหมือนบุคคลนั้น
3. เมื่อรับสายโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย แล้วถูกผู้ที่โทรมาสอบถามว่า รู้หรือไม่ว่าเป็นใคร ให้วางสายยุติการสนทนาทันที ห้ามกระทำตามที่ผู้นั้นบอกเด็ดขาด
4. เมื่อมีการขอให้โอนเงินไปให้ โดยการอ้างเหตุผลความจำเป็นต่าง ๆ ต้องทำการยืนยันตัวบุคคลนั้นก่อน โดยโทรศัพท์ไปหาโดยตรง แล้ววิดีโอคอลขอให้เปิดกล้องโทรศัพท์ เพื่อให้เห็นใบหน้าอย่างชัดเจน
5. อย่าได้เกรงใจ หรือสงสารบุคคลนั้น แล้วไม่กล้าโทรศัพท์ หรือขอเปิดกล้องเพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งหากบุคคลที่ทักมาขอยืมเงินเป็นคนที่เรารู้จักจริง ก็ต้องยินยอมให้ยืนยันตัวตน
6. หากบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ชื่อเจ้าของบัญชีธนาคารไม่ตรงกับบุคคลที่เราจะโอนเงินไปให้ สันนิษฐานได้ว่า เป็นมิจฉาชีพแน่นอน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอ้างว่า เป็นบัญชีของผู้ใดก็ตาม
7. หากท่านตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อโอนเงินไปให้มิจฉาชีพแล้ว ให้รีบติดต่อกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารในทันที เพื่อขอทำการอายัดบัญชีธนาคารของคนร้าย
8. ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก เพื่อป้องกันการถูกแฮก หรือเข้าถึงบัญชีสื่อสังคมออนไลน์
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : เบญจมา ส้มเช้า
พิสูจน์อักษร : จิรัชยา นวลนิ่มน้อย
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter