กรุงเทพฯ 29 พ.ค.-เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค.นี้ เยาวชน 8 ประเทศอาเซียน ประกาศเจตนารมณ์ไม่ยุ่งเกี่ยวบุหรี่ ขณะที่เครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบเผย ในอาเซียนมีผู้สูบบุหรี่กว่า 122 ล้านคนเเละเสียชีวิตปีละเกือบ 6 เเสนคน ส่วนไทยมีผู้สูบบุหรี่เกือบ 11 ล้านคน จำนวนนี้ร้อยละ 73 ติดบุหรี่ตลอดชีวิตเเละเสียชีวิตกว่า 50,000 คนต่อปี
มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “คนรุ่นใหม่ในอาเซียนไม่สูบบุหรี่” เพื่อเปิดเวทีให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมปลอดบุหรี่ระดมความคิดเเละสร้างเครือข่ายรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งร่วมประกาศเจตนารมณ์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมของทุกปี โดยมีเยาวชนในภูมิภาคอาเซียนจาก 8 ประเทศกว่า 80 คนเข้าร่วมการประชุมด้วย
นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ข้อมูลจากเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน พบมีผู้สูบบุหรี่ในอาเซียนกว่า122 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10ของผู้สูบบุหรี่ทั้งหมดทั่วโลก โดยประเทศอินโดนีเซีย มีผู้สูบมากที่สุด ร้อยละ 66 เเละมีเยาวชนสูบบุหรี่มากที่สุดเกือบ 66 ล้านคนต่อปี รองลงมาคือประเทศฟิลิปปินส์เเละเวียดนาม
ขณะที่ประเทศสิงคโปร์มีผู้สูบบุหรี่ต่ำสุดร้อยละ 23 หรือมีผู้สูบบุหรี่เพียง 375,000 คนต่อปี ส่วนประเทศไทย มีเยาวชนสูบบุหรี่เกือบ 11 ล้านคนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 20 ขณะเดียวกันมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในประเทศอาเซียนเกือบ 600,000 คนต่อปี โดยเป็นคนไทย50,710 คนต่อปี
“หากเจาะกลุ่มประเทศไทยพบสถิติว่าคนที่ติดบุหรี่กว่าครึ่งเริ่มสูบก่อนอายุ 19 ปีเเละมีร้อยละ 27 เลิกสูบได้ส่วนอีกร้อยละ73 จะติดไปตลอดชีวิต ขณะที่สถานการณ์การบริโภคยาสูบในช่วง24 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2534-2558) มีผู้สูบบุหรี่ลดลง จาก12.2ล้านคนเหลือ 10.9ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 15-18ปี 3.1 เเสนคน ซึ่งหากช่วยปกป้องคนกลุ่มนี้ไม่ให้เริ่มสูบบุหรี่ได้ จะสามารถลดนักสูบหน้าใหม่ถึงร้อยละ 90 เเละเป็นก้าวเเรกในการป้องกันให้เด็กไม่เข้าไปสู่วงจรสิ่งเสพติดเเละอบายมุขที่ร้ายเเรงอื่นๆด้วย”นพ.ประกิต กล่าว
ด้านนางเรนู การ์ก ผู้เเทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้มีคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกคือ “Tobacco : a threat to development” หรือบุหรี่เป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆทั้งการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้านสุขภาพ เศรษฐกิจเเละสุขภาวะ เเนวคิดนี้ถือเป็นมาตรการหนึ่งในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 เพื่อให้ทุกคนเกิดความตระหนักให้การช่วยกันควบคุมการระบาดของยาสูบ ลดอันตรายเเละการเสียชีวิต จากการใช้ยาสูบ ป้องกันโรคเเละลดความสูญเสียจากเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการปกป้องเด็กจากการเริ่มสูบบุหรี่ เเละตั้งเป้าว่าในศตวรรษ ที่ 21 ประเทศต่างๆจะมีคนสูบบุหรี่ต่ำกว่า ร้อยละ 5
ขณะที่นายสุวรรณนุวงศ์ เยาวชนจากประเทศลาว กล่าวว่า ตั้งใจมาร่วมการประชุมครั้งนี้เพราะได้รับเเรงบันดาลใจจากคนใกล้ชิดที่สูบบุหรี่จนติด เเต่ก็อยากเลิกสูบ จึงอยากให้พวกเขาเลิกสูบได้จริงๆ เลยมาหาวิธีการที่จะสื่อสารให้พวกเขาเข้าใจผ่านการประชุม เบื้องต้นได้ลองทำภาพ อินโฟกราฟฟิคเปรียบเทียบการใช้เงินของคนที่สูบบุหรี่เเละไม่สูบบุหรี่ ซึ่งหากไม่สูบบุหรี่จะมีเงินเหลือในการทำให้ชีวิตดีขึ้น .-สำนักข่าวไทย