สธ. 24 ก.พ. – กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังไข้หวัดนก หลังมีรายงานเด็กหญิงวัย 11 ปี ชาวกัมพูชา เสียชีวิต และพ่อของเด็กเริ่มมีอาการป่วยแต่ไม่แสดงอาการ พบในเมืองไพรแวง ติดเวียดนาม ส่วนไทยยังไม่มีการรายงานการป่วยไข้หวัดในคนมา 16 ปีแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาทเตรียมหารือกรมอุทยานฯ และปศุสัตว์ เฝ้าระวังการติดเชื้อในสัตว์ และเฝ้าระวังตามแนวชายแดน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีกัมพูชาพบเด็กหญิงวัย 11 ปี เสียชีวิตด้วยไข้หวัดนก H5N1 รายแรก ในรอบ 9 ปี ว่า จากการติดตามข้อมูลการเสียชีวิตของเด็กหญิงคนดังกล่าว พบว่าขณะนี้บิดาของเด็กหญิงคนดังกล่าวก็ติดเชื้อไข้หวัดนกแล้วเช่นกัน คาดว่าน่าจะมีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน เพราะปกติของเด็กมักใกล้ชิดกับสัตว์และอาจไม่ได้มีการทำความสะอาด ล้างมือ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการรายงานการเสียชีวิตของเด็กคนดังกล่าวให้กับองค์การอนามัยโลกแล้ว โดยเด็กรายนี้เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 16 ก.พ. และเสียชีวิตเมื่อ 21 ก.พ. ที่จังหวัดไพรแวง ที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชา มีพรมแดนติดกับเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ถือว่ามีความห่างจากไทยมาก แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ จึงได้มีการประสานติดตามขอข้อมูลการสอบสวนโรค และผลการตรวจสารคัดหลั่งแล้ว ส่วนมาตรการในไทย ได้มีการเฝ้าระวังการลักลอบขนสัตว์ปีก มาจากประเทศเพื่อน และหากพบสัตว์ปีกป่วยตายให้รายงานยังปศุสัตว์ เพื่อการทำลายซากสัตว์อย่างถูกวิธีลดการแพร่เชื้อ ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ เป็นมาตรการเดิมที่เคยใช้ในการเฝ้าระวังไข้หวัดนกในไทย เมื่อปี 2549 ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ไทยไม่พบไข้หวัดนกมาแล้ว 16 ปี และขณะเดียวกันทางกรมควบคุมโรค เตรียมหารือกับคณะทำงานศูนย์สุขภาพหนึ่งเดียว ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมปศุสัตว์ ในวันที่ 2 มีนาคมนี้
นพ.โสภณ ยังกล่าวว่าสำหรับความรุนแรงของไข้หวัดนก พบอัตราการเสียชีวิตหากป่วยอยู่ที่ร้อยละ 50 โดยไทยเคยพบการป่วยในปี 2549 จำนวน 25 คน เสียชีวิต 17 คน และคนที่พบว่าป่วยคนแรกเป็นเด็ก สำหรับอาการบ่งชัดของไข้หวัดนก มีไข้สูง ไอ เจ็บคอ และอาการทางระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่มีอาการไอและหายใจเหนื่อยหอบจากปอดอักเสบ ผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนทางปอดรุนแรง คือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ปัจจุบันการพบการติดเชื้อไข้หวัดนกมีรวม 21 ประเทศ ส่วนการติดเชื้อในกัมพูชา เริ่มพบไข้หวัดนก 2546-2557 เสียชีวิต 457 คน จากการป่วย 870 คน
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวถึงโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กที่มีการระบาดในประเทศอิเควทอเรียลกินี แถบแอฟริกาตอนกลางว่า ล่าสุดสถานการณ์เริ่มอยู่ในระดับการควบคุมได้ เนื่องจากมีทีมขององค์การอนามัยโลกส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปร่วมสอบสวนและควบคุมโรค ให้การดูแลผู้ป่วย จำนวนผู้เสียชีวิตคงที่ 9 คน และผู้ป่วยสัมผัส 25 คน ส่วน 2 คน ที่เป็นผู้ป่วยสงสัยที่ชายแดนแคเมอรูน ซึ่งพรมแดนติดกับอิเควทอเรียลกินี ได้รับแจ้งว่าผลตรวจเป็นลบ ไม่พบไวรัสมาร์บวร์ก ทั้งนี้ จากการดูเรื่องการเดินทาง พบว่าประเทศนี้ไม่ได้มีประชากรมากนัก ประมาณล้านกว่าคน และไม่ได้มีการเดินทางหนาแน่นมาก การแพร่ระบาดออกนอกพื้นที่ที่พบผู้ป่วยครั้งแรกคงมีโอกาสน้อย และยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนคนอิเควทอเรียลกินี ที่จะเดินทางมาถึงประเทศไทยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีประมาณ 4-5 คนต่อเดือน ดังนั้นสถานการณ์ที่เป็นความเสี่ยงกับประเทศไทยยังต่ำ. -สำนักข่าวไทย