กรุงเทพฯ 15 ก.พ.-สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับ กกร. และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประกาศรางวัล “CEO Econmass Awards 2022” ยก 12 ซีอีโอต้นแบบนำพาองค์กรฝ่าวิกฤติ หวังสร้างแรงบันดาลใจธุรกิจไทย พร้อมเดินหน้ายกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
น.ส.จิตวดี เพ็งมาก นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า สมาคมฯ ร่วมกับ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำโครงการคัดเลือกสุดยอดผู้นำองค์กรภาคเอกชน (สุดยอดซีอีโอ) ประจำปี 2565 เพื่อเข้ารับรางวัล Thailand’s CEO Econmass Awards 2022 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศเกียรติคุณ และยกย่อง เชิดชูเกียรติผู้บริหารภาคเอกชน ที่สามารถนำพาองค์กรให้ก้าวขึ้นสู่องค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคธุรกิจในการยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันสู่ระดับสากล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทย
ทั้งนี้รางวัล Thailand’s CEO Econmass Awards 2022 แบ่งเป็น 5 ประเภทรางวัล ได้แก่ 1.รางวัลซีอีโอรุ่นใหญ่ธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (CEO Econmass Awards 2022) 2.รางวัลสุดยอดซีอีโอรุ่นใหญ่(The Best CEO Econmass Awards 2022) 3.รางวัลซีอีโอ รุ่นใหม่ หรือธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs CEO Econmass Awards 2022) 4.รางวัลสุดยอดซีอีโอ เอสเอ็มอี (The Best SMEs CEO Econmass Awards 2022) และ 5.รางวัลซีอีโอขวัญใจสื่อมวลชน (Popular Vote CEO Econmass Awards 2022)
สำหรับ CEO ที่ได้รับรางวัล ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นตามหลักเกณฑ์ และตามหลักวิชาการที่เป็นมาตรฐานสากลโดยคณะกรรมการคัดสรร คณะกรรมการคัดเลือก และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ กกร. ผู้บริหาร และคณาจารย์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และยังเปิดโอกาสให้บรรณาธิการเศรษฐกิจ 83 องค์กรสื่อ ที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ได้ร่วมโหวต เพื่อเลือก “สุดยอดซีอีโอรุ่นใหญ่” และสมาชิกสมาคมฯจำนวน 456 คน ได้ร่วมโหวตเลือก “ซีอีโอขวัญใจสื่อมวลชน” โดยมีรายนามผู้ได้รับรางวัลดังนี้
1.รางวัลซีอีโอรุ่นใหญ่ ธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 5 บริษัท ดังนี้
1.1 นายสมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บิสซิเนสอะไลเม้นท์ สาขาอุปโภคบริโภค
1.2 นายสมเกียรติ ศิลวัฒนาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์
สาขาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
1.3 นางนภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทีคิวเอ็ม อัลฟา สาขาธุรกิจการเงิน
1.4 นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ซีอีโอ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ สาขาทรัพยากร
1.5 นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี สาขาเทคโนโลยี
2.รางวัลสุดยอดซีอีโอรุ่นใหญ่ จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ นางนภัสนันท์ พรรณนิภา ประธานเจ้าหน้าที่
บริหาร บมจ.ทีคิวเอ็มอัลฟา
3.รางวัลซีอีโอ เอสเอ็มอี จำนวน 4 บริษัท ดังนี้
3.1 นายอุกฤษฎ์ ตั้งสืบกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เรียล สมาร์ท จํากัด สาขาบริการ
3.2 นางสาวณัชชา รุจิชลาดล ผู้บริหาร บจก.บิทแมกซ์ อินเตอร์คอร์ป สาขาธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง
3.3 นายสุเมธ งามเจริญ ประธาน บริษัท เอ-พลัส ซัพพลาย จำกัด สาขาธุรกิจอุตสาหกรรมและการผลิต
3.4 นายทสม์ เจริญช่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิริสมปอง ออร์แกนิค ฟาร์ม จำกัด / สวนมะนาวโห่
ลุงศิริ สาขาเกษตร
4.รางวัลสุดยอด ซีอีโอ เอสเอ็มอี จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ นายอุกฤษฎ์ ตั้งสืบกุล ประธานเจ้าหน้าบริหารร่วม บริษัท เรียล สมาร์ท จํากัด
5.รางวัลสุดยอดซีอีโอขวัญใจสื่อมวลชน จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่
บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
“สมาคมฯ ขอแสดงความยินดีกับซีอีโอทุกท่านที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ และหวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่า รางวัล CEO Econmass Awards 2022 จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะภาคเอกชน ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย” น.ส.จิตวดีกล่าว
ด้าน รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และกกร. จัดทำโครงการคัดเลือกสุดยอดผู้นำองค์กรภาคเอกชน ประจำปี 2566 เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติผู้บริหารภาคธุรกิจชั้นนำของประเทศ โดยใช้แนวคิดตามหลักวิชาการ ผสานกับประสบการณ์ของมหาวิทยาลัย ที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านธุรกิจ การค้า และเศรษฐกิจของอาเซียน รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในการประเมินการมอบรางวัลต่างๆ มากมาย ทำให้การคัดเลือกโดยใช้หลักเกณฑ์ทางวิชาการ มีความแม่นยำ และเชื่อถือได้
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รางวัลนี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักธุรกิจอื่นมุ่งมั่นยกระดับศักยภาพในการผลิตสินค้าและบริการของไทย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันขององค์กร และของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก อีกทั้งยังช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน” นายธนวรรธน์กล่าว .-สำนักข่าวไทย