กรุงเทพฯ 9 ก.พ.-สุริยะ สั่งกรมโรงงานฯ เฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 จากโรงงานพบค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ให้สั่งหยุดและดำเนินคดีทันที
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และอุตสาหกรรมจังหวัดในเขตปริมณฑลเร่งดำเนินมาตรการป้องกันและกำกับการตรวจฝุ่น PM2.5 จากการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ 3 มาตรการ คือ 1. มาตรการเร่งด่วน เข้มงวด กรณีตรวจพบโรงงานปล่อยเกินมาตรฐาน ให้ออกคำสั่งหยุดปรับปรุงแก้ไข และส่งดำเนินคดีทันที 2. มาตรการระยะกลาง พัฒนาระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษทางอากาศระยะไกล (Pollution Online Monitoring System: POMS) และ 3. มาตรการระยะยาว ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล หลังดำเนินการตรวจเชิงรุกด้านฝุ่นละอองโรงงานที่มีกระบวนการเผาไหม้ โรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัลติก ที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 896 โรงงาน ผลจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศรอบพื้นที่เขตประกอบการ และชุมชนอุตสาหกรรม ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 พบว่าค่า PM2.5 เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คือ ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และในปีนี้โรงงานมีความตื่นตัวเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กมากยิ่งขึ้น ด้วยการกำกับการประกอบกิจการของตนเองให้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบัน กรอ. มีมาตรการในการควบคุมฝุ่นละอองที่ระบายจากการประกอบกิจการโรงงาน โดยออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดให้โรงงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ โรงงานที่มีกระบวนการที่มีการเผาไหม้ เช่น เตาเผา หม้อน้ำ เตาอบ และเตาหลอม เป็นต้น ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (CEMS) ซึ่งข้อมูลจากการตรวจวัดนี้จะถูกส่งมาแสดงผลผ่านระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล (Pollution Online Monitoring System: POMS) บนเว็บไซต์ของ กรอ. และบนมือถือ ผ่าน Application POMS เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามผลการควบคุมการระบายมลพิษอากาศของโรงงานได้ตลอดเวลา อีกทั้งได้นำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศ โดยการเลือกจุดที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น นิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการ เป็นต้น และขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงาน ให้ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องจักร ตรวจสอบระบบบำบัดมลพิษอากาศให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี วางแผนกำลังการผลิต และควบคุมการระบายมลพิษอากาศจากการประกอบกิจการอย่างเข้มงวดเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 เพราะเป็นช่วงที่อากาศอาจไม่ไหลเวียนตามปกติ ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง
นอกจากนี้ กรอ. ยังได้จัดทำสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแนะนำการปรับแต่งการเผาไหม้ของหม้อน้ำ รวมถึงข้อแนะนำในการลดฝุ่นละอองจากการใช้หม้อน้ำ เพื่อผู้ประกอบการสามารถดูแลเครื่องจักรได้ด้วยตัวเองในเบื้องต้น
“กรอ. ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพิจารณาปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษอากาศของโรงไฟฟ้าให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับการกำกับดูแลการปล่อยฝุ่นละอองให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี สภาพสังคม และมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปที่มีการปรับปรุงใหม่ ที่กำหนดใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่สำคัญที่สุด เพื่อเป็นการคุ้มครองคุณภาพชีวิตของประชาชน” นายจุลพงษ์ กล่าว-สำนักข่าวไทย