ทำเนียบรัฐบาล 9 ก.พ.-รองโฆษกรัฐบาล เผยพาณิชย์ขึ้นทะเบียน “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” สร้างรายได้ให้ชาวยะลามากถึง 2,800 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ ก.เกษตร สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องออกมาตรการแก้ปัญหาตัดทุเรียนอ่อนขาย กระทบภาพรวมส่งทุเรียนออกนอก
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดผลไม้ในประเทศไทยยังเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูง ในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งการส่งออกผลไม้ไทยไปต่างประเทศสร้างรายได้ให้กับประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะทุเรียน ถือได้ว่าเป็นราชาผลไม้ไทย มีมูลค่าส่งออกแสนกว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนสิงหาคม 2566 โดยจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนเมษายน ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2566 เป็นต้นไป
“ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียน “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตัวใหม่ของจังหวัดยะลา ปัจจุบันทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลามีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 190 บาท สร้างรายได้ให้ชาวยะลามากถึง 2,800 ล้านบาทต่อปี ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์แก้ไขปัญหาผลไม้ทุเรียนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ช่วงการดูแลผลผลิตจนไปถึงการตัดทุเรียนขาย ที่ผ่านมามักประสบปัญหาการลักลอบขายทุเรียนอ่อน และเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้จัดระบบการทำงานเชิงรุก ผ่านคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย โดยคณะทำงานได้จัดทำแผนพร้อมรับมือการแข่งการส่งออกทุเรียนของประเทศเพื่อนบ้าน” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายเฉลิมชัยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่สวนทุเรียน จัดตั้งจุดบริการตรวจเปอร์เซ็นของน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 68 จุด ได้แก่ จันทบุรี (40 จุด) ตราด (7 จุด) ระยอง (6จุด) ชุมพร (10 จุด) นครศรีธรรมราช (5 จุด) โดยได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจากกรมประมงและกรมปศุสัตว์ รวม 100 ท่าน ลงพื้นที่ตรวจรายแปลง และกรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ ตรวจสอบ โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ทุเรียนที่นำมาส่งที่ล้ง จะต้องมีใบรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นน้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ซึ่งทุเรียนไทยมีคุณภาพดีกว่าต่างประเทศมาก ขออย่างเดียวอย่าตัดทุเรียนอ่อน โดยกรมฯ ได้กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน ดังนี้ ทุเรียนพันธุ์กระดุมและพวงมณี เก็บเกี่ยว วันที่ 10 มีนาคม พันธุ์ชะนี เก็บเกี่ยว วันที่ 20 มีนาคม และทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เก็บเกี่ยววันที่ 15 เมษายน 2566
“ขอความร่วมมือเกษตรกร ถ้าเก็บเกี่ยวก่อนวันประกาศฯ ให้นำตัวอย่างผลทุเรียนลูกที่อ่อนที่สุดในรุ่นที่จะเก็บเกี่ยวมาให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เช่น แปลงใหญ่ ฯลฯ ตรวจวัดเปอร์เซ็นน้ำหนักแห้งเพื่อออกใบรับรองความแก่ เพื่อแนบไปกับรถขนส่งทุเรียนไปจำหน่าย ณ ที่ล้ง/โรงคัดบรรจุ โดยพันธุ์กระดุมเปอร์เซ็นน้ำหนักแห้งไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็น พันธุ์ชะนีไม่น้อยกว่า 30 พันธุ์พวงมณีไม่น้อยกว่า 30 และพันธุ์หมอนทองไม่น้อยกว่า 32” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย