ตรัง 1 ก.พ. – ชาวบ้านและนักเรียนในตำบลบางดี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ร่วมกันลงแขกเกี่ยวข้าว และทำปี่ซังข้าว นำมาเป่าให้เกิดเสียงเพลง รำลึกถึงของเล่นโบราณในนาข้าว
ที่แปลงนาข้าวเกษตรอินทรีย์ที่หมู่ 1 ต.บางดี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ลงแขกเกี่ยวข้าวตามฤดูกาลเก็บเกี่ยวประจำปี 2566 โดยมีชาวบ้านและนักเรียนกว่า 70 คน ช่วยกันเกี่ยวข้าวโดยใช้แกละ นอกจากส่งเสริมความรักความสามัคคีในหมู่คณะแล้ว ยังสอนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รู้จักการทำนาเกี่ยวข้าว เพื่อปลูกฝังให้เด็ก ๆ รู้จักคุณค่าของเมล็ดข้าวที่กว่าจะได้มาสักเมล็ด และเพื่อร่วมสืบทอดอาชีพการทำนาแบบอินทรีย์สืบต่อไปในอนาคต
หลังการเก็บเกี่ยว ทำปี่จากตอซังข้าวหรือฟางข้าว เป่าเป็นเสียงดนตรี และเสียงสัตว์ต่าง ๆ เป็นการย้อนรำลึกถึงภาพของเล่นในอดีตที่ได้จากฟางข้าวเหลือใช้ สร้างความสนุกสนานในนาข้าว ผ่อนคลายความเครียด และสร้างรอยยิ้มเป็นกำลังใจให้กันและกัน เด็ก ๆ ชอบมาก แต่เป่าเท่าไหร่ก็ได้แต่เป็นเสียงดังแบบยาวๆ ไม่มีจังหวะ ทำนอง เช่นเดียวกับชาวบ้านหลายคน ก็เป่าแค่ให้เกิดเสียงดัง แต่ไม่เป็นเพลง ทำให้ครูยิ่ง หรือนายยิ่ง ภักดีสัตยากุล อายุ 75 ปี ทำหน้าที่พิธีกร อดใจไม่ไหว นำปี่ซังข้าวมาเป่าโชว์ ขยับมือหมุนไปมา เกิดเสียงดังคล้ายเสียงเด็กร้อง เสียงวัวและเสียงนก สร้างเสียงหัวเราะให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างมาก หลายคนพยายามเลียนแบบ แต่ทำไม่ได้
สำหรับปี่ซังข้าว หรือ ปี่จากตอฟาง เป็นของเล่นของคนทำนามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายนิยมเล่นกัน หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เพื่อผ่อนคลายความเครียดและสร้างรอยยิ้มให้กับชาวบ้านที่มาช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าว โดยใช้ตอซังข้าวเพียงปล้องเดียว ใช้มีดกรีดให้เป็นรูเหมือนขลุ่ย ความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้นใช้เศษหญ้าแหย่ลงไปในรู เพื่อไล่เศษข้าวออก แค่นี้ก็นำมาเป่าเป็นเครื่องดนตรีได้แล้วถ้ายิ่งตัดปล้องสั้น เสียงจะยิ่งแหลม ส่วนปล้องยาวมีเสียงต่ำ เล่นได้ทุกเพศทุกวัย และเป็นของเล่นชนิดเดียวที่หาได้จากท้องทุ่งนาจากอดีตถึงปัจจุบัน. – สำนักข่าวไทย