กรุงเทพฯ 25 ม.ค.-กทท.พร้อมเดินหน้าแผนจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ หลังผลการศึกษาทำได้จริง คุ้มค่าต่อการลงทุน ตอกย้ำความเชื่อมั่นนักลงทุน สามารถเปิดบริการเดินเรือเส้นทางในประเทศได้ทันที และเส้นทางระหว่างประเทศภายใน 4 ปีแรก
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและแนวทางการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทยว่า ตามที่ กทท.ได้จ้างบริษัท ทรานส์คอนซัลท์ จำกัด และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและแนวทางการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย ขณะนี้คณะที่ปรึกษาฯ ได้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าวทั้ง 4 ด้าน แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย
ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการบริหารสายการเดินเรือแห่งชาติ ควรเน้นการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25 จะทำให้มีความเหมาะสมและคล่องตัวในการบริหารงานที่เกี่ยวข้องในด้านการตัดสินใจที่รวดเร็ว เป็นการดึงจุดเด่นของภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางชายฝั่งของไทยให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น ซึ่งก็มีกลุ่มผู้ประกอบการและนักลงทุนให้ความสนใจร่วมลงทุนในธุรกิจสายการเดินเรือแห่งชาติจำนวนหลายราย
สำหรับเส้นทางการเดินเรือภายในประเทศ พบว่า มี 9 เส้นทางที่มีความเหมาะสม สามารถเปลี่ยนจากการขนส่งทางบกมาสู่ทางน้ำได้ แต่มี 3 เส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในการลงทุน และไม่ทับซ้อนกับเส้นทางที่มีเอกชนดำเนินการอยู่ก่อนหน้า โดยมีผลตอบแทนทางการลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 7.71 ประกอบด้วย เส้นทางท่าเรือมาบตาพุด (ระยอง) – ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) เส้นทางท่าเรือไฟร์ซัน (สมุทรสงคราม) – ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) และเส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) – ท่าเรือสุราษฎร์ธานี
ด้านเส้นทางการเดินเรือต่างประเทศนั้นได้พิจารณารูปแบบการให้บริการเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 (First Phase) เป็นบริการเดินเรือไม่ประจำเส้นทาง (Tramp Service) ให้บริการขนส่งสินค้าประเภทเทกอง (Bulk Cargo) คาดการณ์ส่วนแบ่งปริมาณสินค้าที่จะมาใช้บริการสายการเดินเรือแห่งชาติ ร้อยละ 2 คิดเป็น 1.2 ล้านตัน ขีดความสามารถในการให้บริการจำเป็นต้องจัดหาเรือประเภท (1) เรือขนาด Handy Max ขนาด 32,000 เดทเวทตัน จำนวน 3 ลำ ให้บริการปีละ 8 รอบ (2) เรือขนาด Supra Max ขนาด 50,000 เดทเวทตัน จำนวน 2 ลำ ให้บริการปีละ 5 รอบ
ระยะที่ 2 (Second Phase) เป็นการให้บริการเดินเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (Container Service) ให้บริการในเส้นทางเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง) อาเซียน (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) และกลุ่มประเทศ BIMSTEC (อินเดียและเมียนมา) ประเภทสินค้าที่ส่งออกจากไทย รวมปริมาณส่งออก 20.0 ล้านตัน สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ รวมปริมาณนำเข้า 9.1 ล้านตัน เบื้องต้นคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะมาใช้บริการเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ของบริษัทสายการเดินเรือแห่งชาติ ร้อยละ 2 ของการส่งออกและนำเข้า คิดเป็นจำนวนสินค้าคอนเทนเนอร์ 31,005 TEUS ขนาดของเรือที่จะเข้ามาให้บริการเป็นเรือตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ขนาด 1,500 TEUS (Feeder Size) จำนวน 4 ลำ แต่ละลำทำรอบหมุนเวียน 8 รอบ/ปี
ทั้งนี้ กทท.เชื่อมั่นว่าการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทยจะเกิดขึ้นได้จริงในเร็ววันนี้ และสามารถพัฒนาเป็นสายการเดินเรือแห่งชาติที่มุ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการขนส่งทางชายฝั่งและทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย มีมาตรฐาน และสนับสนุนการพาณิชยนาวีของไทยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการจ้างงานในธุรกิจการเดินเรือ และกำไรที่ได้จากผลประกอบการ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางอ้อมไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การต่อเรือ การประกันวินาศภัยทางทะเล เป็นต้น รวมถึงผลประโยชน์เชิงคุณภาพที่ไม่สามารถคิดเป็นตัวเงินได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กทท.จะนำผลการศึกษาดังกล่าวนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ โดยตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการเดินเรือประจำเส้นทางในเส้นทางชายฝั่งของไทยภายในปีแรกของการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ และเปิดให้บริการขนส่งสินค้าด้วยเรือไม่ประจำเส้นทางในเส้นทางระหว่างประเทศได้ภายใน 4 ปีแรกของการจัดตั้ง.-สำนักข่าวไทย