กพช.รับทราบแผนรับมือวิกฤติก๊าซธรรมชาติ

ทำเนียบฯ 15 พ.ค. – กพช.รับทราบแผนดูแลก๊าซธรรมชาติและรับมือวิกฤติอีก 5 ปีข้างหน้า หลังแผนจัดหาก๊าซฯ ล่าช้าและโรงไฟฟ้าถ่านหินสะดุด


พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน  นายทวารัฐ  สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)และนางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แถลงร่วมกันว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบแนวทางการเตรียมความพร้อมรองรับสภาวะวิกฤติก๊าซธรรมชาติอีก 5 ปีข้างหน้า (2564 – 2566) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ 

ทั้งนี้ เพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงต้องเตรียมการตั้งแต่ปัจจุบัน เนื่องจากความล่าช้าของการสรุปแนวทางการบริหารจัดการก๊าซในอ่าวไทย ทำให้การผลิตไม่ต่อเนื่องและก๊าซมีปริมาณลดลง รวมทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลทำให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอกับความต้องการที่คาดการณ์ไว้ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 – 2579 (Gas Plan 2015) หลังจากปรับปรุงใหม่มองว่าปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศ คิดเป็นพลังงานไฟฟ้าสูงถึง 13,623 ล้านหน่วย หรือเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาด 1,700 เมกะวัตต์ รัฐบาลจึงต้องเตรียมการรองรับปัญหา แม้ขณะนี้ยังไม่เกิดวิกฤติ แต่วิกฤติจะเกิดในอีก 5 ปีข้างหน้า จึงต้องจัดหาแผนรองรับ 


กระทรวงพลังงานจึงเสนอมาตรการดังนี้  คือ การเจรจาตกลงราคาและปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติโครงการบงกชเหนือ ด้วยการรับประกันอัตราขั้นต่ำในการผลิตช่วงปี 2562 – 2564 เพื่อให้มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติก่อนสิ้นอายุสัมปทานปี 2565 เพิ่มขึ้น พร้อมกำหนดทางเลือกสำหรับการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านการลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Side) จึงต้องเร่งรณรงค์ประหยัดพลังงานแบบเข้มข้น  อาทิ การส่งเสริมติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อลดความต้องการไฟฟ้าช่วงพีคกลางวันและการใช้มาตรการ Demand Response (DR) เพื่อประหยัดไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่ภาครัฐกำหนดเป็นการเฉพาะ  นอกจากนี้ ยังต้องเร่งแผนการจัดหาเชื้อเพลิง จัดหาพลังงานไฟฟ้า (Supply Side) ผ่านการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย (JDA) การเพิ่มความสามารถการเก็บสำรองก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เช่น การขยายโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 1 มาบตาพุด จ.ระยอง และเร่งรัดการพัฒนาโครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) ในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น รวมถึงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพิ่ม เช่น รับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว หรือกัมพูชา และรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีกตามนโยบาย SPP Hybrid-Firm และ VSPP-Semi Firm เพิ่มขึ้น เป็นต้น แผนที่เสนอให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจเพื่อรองปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  

พร้อมกันนี้ที่ประชุม กพช.ได้รับทราบความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร จากเป้าหมายการรับซื้อรวม 800 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น หน่วยงานราชการ 400 เมกะวัตต์ และสหกรณ์ภาคการเกษตร 400 เมกะวัตต์ โดยโครงการฯ ระยะที่ 1 จากเป้าหมายการรับซื้อ 400 เมกะวัตต์ มีผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นสหกรณ์ภาคการเกษตรทั้งหมด 67 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 281.32 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีโครงการฯ สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามกำหนด 55 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 232.87 เมกะวัตต์ ปฏิเสธการรับซื้อ 1 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 5 เมกะวัตต์ และอีก 11 ราย กำลังผลิตติดตั้ง 43.45 เมกะวัตต์ ได้ยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากมีเหตุที่ทำให้โครงการฯ ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่ง กกพ.อยู่ระหว่างการพิจารณา สำหรับโครงการฯ ระยะ 2 เนื่องจาก กกพ.จำเป็นต้องหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกรณีหน่วยงานราชการ จึงออกประกาศจัดหาไฟฟ้าฯ ได้เมื่อวันที่28 เมษายน 2560 โดยมีเป้าหมายการรับซื้อ 219 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น สหกรณ์ภาคการเกษตร ประมาณ 119 เมกะวัตต์ และหน่วยงานราชการ 100 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 

แต่เนื่องจากในทางปฏิบัติมีข้อจำกัดทั้งระยะเวลาในการดำเนินงานและข้อกำหนดตามกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลทำให้โครงการฯ ไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับสถานการณ์ และขั้นตอนการดำเนินงานในทางปฏิบัติ ที่ประชุม กพช.จึงได้เห็นชอบมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาการขยายระยะเวลาจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ของโครงการฯ ระยะ 1 สำหรับกรณีที่ กกพ.พิจารณาการอุทธรณ์แล้วฟังขึ้น แต่ให้กำหนดบทลงโทษปรับลดอัตรา FiT ลงร้อยละ 5 จากอัตรา FiT ที่เคยได้รับอนุมัติไว้ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกรณีโครงการโซลาร์ค้างท่อและหักลดระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามเหตุผลข้อเท็จจริงจากการอุทธรณ์ โดยอายุของสัญญาจะยังสิ้นสุดภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2584 พร้อมเห็นชอบให้เลื่อนกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 (โครงการฯ ระยะที่ 2) จากเดิมภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2561 โดยมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปและเห็นชอบให้ยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ ภายหลังจากการดำเนินการในระยะ 2 เสร็จ


 สำหรับโครงการ “โรงไฟฟ้า-ประชารัฐ” สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชุม กพช.รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ ซึ่งปัจจุบันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พิจารณาคัดเลือกพื้นที่ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเรียบร้อยแล้ว จำนวน 3 แห่ง คือ พื้นที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส พื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 15.9 เมกะวัตต์ และจะจ่ายไฟเข้าระบบจำหน่ายของ กฟภ. รวม 12 เมกะวัตต์ ใช้เศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในปี 2562 – 2563 ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าวยังกำหนดให้มีการจัดสรรร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิแต่ละปีกลับคืนให้แก่ชุมชนในพื้นที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมระบบป้องกันตนเองของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงในชุมชนอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง