กรุงเทพฯ 10 ม.ค.-ประธาน สรท. ประเมินภาพรวมส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังปี 65 ยอดส่งออกแผ่วต่อเนื่อง คาดจะซึมยาวถึง มี.ค.66 จากปัจจัยหลายด้าน พร้อมแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางกระตุ้นส่งออก โดยผู้ส่งออกพร้อมกัดฟันสู้ครึ่งปีหลังให้โต 1-3%
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. ประเมินภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤศจิกายน 2565 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 22,308.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.0% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 846,191 ล้านบาท ขยายตัว 7.7% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่า การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน หดตัว 2.0%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 23,650.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 907,143 ล้านบาท ขยายตัว 20.6% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2565 ขาดดุลเท่ากับ 1,342.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 60,952 ล้านบาท
ขณะที่ยอดส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน ของปี 2565 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 265,349.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,167,993 ล้านบาท ขยายตัว 18.4% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม-พฤศจิกายน ขยายตัว 6.5%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 280,438.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,823,872 ล้านบาท ขยายตัว 28.0% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ของปี 2565 ขาดดุลเท่ากับ 15,088.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 655,879 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สรท. คาดการณ์การส่งออกรวมทั้งปี 2565 เติบโต 6-6.5% และปี 2566 เติบโตระหว่าง 1-3% โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2565 ได้แก่ 1. เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนรุนแรงแบบไม่มีทิศทางที่ชัดเจน 2. สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) อาจมีการชะลอหรือลดขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Rate) ลง ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามาที่ไทยมากขึ้นเป็นเท่าตัว 3. ดัชนีภาคการผลิต PMI ในตลาดส่งออกสำคัญเริ่มชะลอต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนกำลังการผลิตและความต้องการของประเทศคู่ค้า 4. ราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนหลัก ยังคงมีความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตโดยรวมทั่วโลกปรับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ รวมถึงพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF (มาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เพื่อลดต้นทุนของสถาบันการเงิน) เป็น 0.46 จากที่ลดลงไป 0.23 ในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการในทุกระดับ โดยเฉพาะ SMEs 2) ขอให้ช่วยชะลอหรือกำกับดูแลมาตรการภาครัฐใหม่ หรือยกเลิกมาตรการเดิมที่เป็นเหตุให้มีการเพิ่มต้นทุนกับผู้ประกอบการ/ผู้ผลิต ให้น้อยลง และเพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระด้านต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น กำกับดูแลค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน (น้ำมัน) และค่าแรงขั้นต่ำเป็นต้น 3) สนับสนุนและเร่งรัดความต่อเนื่องของการเจรจา FTA อาทิ TH-EU / TH-GCC (กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง) และ 4) ขอให้เร่งขยายมาตรการ Soft power สินค้าอัตลักษณ์ไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและสามารถสร้างโอกาสในการขยายตลาดใหม่มากขึ้น.-สำนักข่าวไทย