กรุงเทพฯ 9 ม.ค. -“อาจารย์เจษฎ์” ระบุสีฟ้าที่ติดตามใบต้นหอมที่มีการแชร์ภาพ ไม่ใช่การพ่นสี แต่เป็นสารเคมีการเกษตรที่ตกค้าง พร้อมแนะนำให้ล้างให้สะอาด หากรับเข้าสู่ร่างกายเป็นปริมาณมาก ทำให้เกิดอันตรายได้
นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงกรณีที่มีการแชร์คลิปวิดีโอต้นหอมซึ่งมีคราบสีฟ้าติดตามใบ โดยมีการแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย โดยบางรายระบุว่า เป็นการพ่นสีเพื่อให้ใบต้นหอมดูสด บายรายเชื่อว่า เป็นสีของเชือกฟางที่มัดกำต้นหอม เมื่อเอามือลูบแล้ว สีฟ้าติดตามมือมา โดยนายเจษฎากล่าวว่า ต้นหอมไม่ได้ย้อมสีฟ้า แต่เป็นสารเคมีทางการเกษตรที่ตกค้างอยู่เช่น ปุ๋ยเม็ดเคมีที่สีฟ้า หรือสารป้องกันกำจัดโรคพืชจำพวกเชื้อราที่เกษตรกรใช้ฉีดพ่นบนพืชผัก
ทั้งนี้เป็นไปได้ยากมากที่จะเป็นการพ่นสี เชื่อว่า ไม่มีใครเสียเวลาพ่นสีใส่ผักพื้นๆ อย่างต้นหอม แล้วนำมาขาย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยเป็นข่าวมาแล้วเช่น ชาวบ้านจังหวัดสมุทรปราการ ไปซื้อต้นหอม แล้วมือที่จับใบต้นหอมมีสารสีฟ้าติดมือมาด้วย ต่อมามีคำอธิบายจากเกษตรกรว่า อาจเป็นพวกสารเคมีทางการเกษตรที่ใช้ใส่ลงไป แล้วตกค้างอยู่ ล้างออกไม่หมดเช่น ปุ๋ยเม็ดเคมีหรือสารป้องกันกำจัดโรคพืชจำพวกสารโปรพิเนบและสารคอปเปอร์ ไฮดรอกไซด์
สำหรับโปรพิเน็บ (propineb) เป็นสารกำจัดเชื้อรา carbamate ออกฤทธิ์ให้ผลทางด้านป้องกันโรคพืชที่เกิดตามใบ สารตกค้างออกฤทธิ์อยู่ได้นานและกำจัดไรได้ด้วย มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 8,500 มก./กก. ทางผิวหนังมากกว่า 1,000 มก./กก. พืชที่ใช้ได้แก่ กล้วย ส้ม ฝ้าย องุ่น มันฝรั่ง ข้าว ชา มะเขือเทศ ยาสูบ ผักต่างๆ หอม กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง ไม้ผล ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป ถ้าเข้าตา จมูก หรือถูกผิวหนัง จะมีอาการคัน เป็นผื่นแดง ถ้ากินเข้าไปจะปวดศีรษะ เซื่องซึม คลื่นเหียน อาเจียน ท้องร่วง อ่อนเพลีย
ส่วนคอปเปอร์ ไฮดรอกไซด์ (copper hydroxide) เป็นสารกำจัดเชื้อราอนินทรีย์ (inorganic) ออกฤทธิ์ให้ผลทางด้านป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,000 มก./กก. อาจทำให้ผิวหนังเกิดอาการระคายเคือง หากดวงตาและระบบหายใจเกิดอาการระคายเคือง พืชที่ใช้ได้แก่ กล้วย ถั่วต่างๆ บรอคโคลี่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก โกโก้ แตงแคนตาลูป แครอท คื่นฉ่าย เชอร์รี่ ส้ม กาแฟ แตงกวา องุ่น มะม่วง พริกไทย มะเขือ ฟักทอง สตรอเบอร์รี่ แอปเปิล มะเขือเทศ ผักกาดหอม มันฝรั่ง แตงโม และข้าวสาลี
นายเจษฎากล่าวต่อว่า แม้สารเคมีดังกล่าว จะไม่ค่อยมีความเป็นพิษ ถ้ารับประทานเข้าไปเพียงเล็กน้อย คงไม่เป็นอะไร แต่หากร่างกายได้รับในปริมาณมาก อาจจะเป็นอันตรายได้ดังนั้น เมื่อซื้อผักสดมา แล้วพบลักษณะที่ผิดปรกติเช่น มีสารสีฟ้าอยู่บนผัก ควรล้างออกด้วยน้ำเปล่าให้มากที่สุดหรือแช่น้ำที่ละลายผงเบกกิ้งโซดา ก่อนล้างออกด้วยน้ำเปล่าเพื่อให้มั่นใจว่า ไม่ได้รับประทานสารเคมีการเกษตรที่ตกค้างเข้าไปในร่างกาย.-สำนักข่าวไทย