ทำเนียบฯ 9 พ.ค. – ครม.เห็นชอบตั้งกองทุนหมุนเวียนสวัสดิการแห่งรัฐ 5 หมื่นล้านบาท ดูแลผู้มีรายได้น้อย พร้อมขยายเวลารถเมล์-รถไฟฟรี 5 เดือน รอบัตรสวัสดิการ
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยเริ่มจัดสรรงบประมาณปี 2561 เข้ากองทุน เพื่อเริ่มใช้สวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน เป็นกลไกสำคัญในการดูแลสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยกำหนดกรอบดำเนินการของกองทุน เพื่อใช้เงินดูแลบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การพัฒนาทักษะ การดูแลคุณภาพชีวิต การจัดหลักประกันสุขภาพ โดยสำนักงบประมาณจัดสรรงบเข้ากองทุนดังกล่าว 46,000 ล้านบาท
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเปิดให้รายย่อยลงทะเบียนถึงวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ จึงต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยทุกคนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี รีบไปลงทะเบียน เพราะหากพลาดลงทะเบียนครั้งนี้แล้วจะต้องรอลงทะเบียนอีกครั้งปีหน้า เพื่อนำบัตรไปใช้บริการผ่านบัตรสวัสดิการทั้งเรื่องรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี และสวัสดิการด้านต่าง ๆ ของรัฐ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการจัดทำบัตรและวางระบบเครือข่าย เพื่อให้รายย่อยใช้บริการด้านคมนาคม
นายณัฐพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.เห็นชอบการขยายเวลาโครงการรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-30 กันยายน วงเงินชดเชย 1,907 ล้านบาท ผ่านรถเมล์ ขสมก. 800 คันต่อวัน วงเงิน 1,540 ล้านบาท และ รถไฟชั้น 3 จำนวน 152 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ทางไกลพ่วงเชิงพาณิชย์ 8 ขบวน วงเงิน 367 ล้านบาท หลังจากนั้นจะเริ่มให้ผู้มีรายได้น้อยใช้บริการสาธารณะผ่านระบบสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบปรับปรุงกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 กรอบโดยรวมยังเหมือนเดิม ประมาณรายจ่าย 2.9 ล้านล้านบาท ประมาณการณ์รายได้ 2.45 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 450,000 ล้านบาท สมาติฐานจีดีพีขยายตัวร้อยละ 3.5-3.6 ด้วยการปรับการจัดสรรงบประมาณตามรายกระทรวง บางหน่วยงานได้รับเพิ่มขึ้น โดยบางส่วนราชการปรับลดลง วงเงิน 4,985 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 4,984 ล้านบาท และยังจัดทำงบเพิ่ม 47,110 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเพิ่มเติมรองรับการจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อฐานรากดูแลสวัสดิการแห่งรัฐปี 2561 ในส่วนของกระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรร 222,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,892 ล้านบาท จากปีก่อนได้รับจัดสรร 213,544 ล้านบาท นับว่าต่ำกว่ากระทรวงมหาดไทยซึ่งได้รับจัดสรรกว่า 300,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย