รร.มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น 14 ธ.ค. – กรมการแพทย์แผนไทยฯ จับมือ อบจ. เร่งพัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระดับปฐมภูมิเน้นใช้สมุนไพร กัญชา กัญชง ทางการแพทย์แบบบูรณาการ ปี 66 เดินหน้า รพ.สต.กว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จับมือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด พัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระดับปฐมภูมิ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ปี 2566 เดินหน้า รพ.สต. ทั่วประเทศกว่า 2,000 แห่ง ชูภารกิจหลัก มุ่งเน้นการจัดบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในระบบสุขภาพปฐมภูมิทุกพื้นที่ สนับสนุน สมุนไพร กัญชา กัญชง เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลผู้ป่วย และประชาชน ในชุมชนให้มีสุขภาพดี
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพองค์การบริหารส่วนจังหวัดด้านการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือกและการใช้สมุนไพรทางการแพทย์แบบบูรณาการ โดยมี นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายบุญชู จันทรสุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ผู้บริหาร บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข และบุคลากรองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมในพิธีการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารบุคลากร ด้านสาธารณสุขและผู้ที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีความรู้ ความเข้าใจ ในด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสามารถใช้กัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหาร บุคลากรสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ได้รับการถ่ายโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 49 จังหวัด และบุคลากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 76 จังหวัด จำนวน 500 คน งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 ธ.ค.65 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายมุ่งกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ได้ออกประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นให้เกิดการกระจายอำนาจของหน่วยต่างๆ สู่ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน และให้สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ รพ.สต. สามารถตอบสนองความต้องการทางด้านสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง ซึ่งข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ และ รพ.สต. รวมแล้ว 3,263 แห่ง จากจำนวนทั้งสิ้น 9,787 แห่งทั่วประเทศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางการให้บริการภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างหลักประกันความต่อเนื่องของบริการรวมถึงพัฒนาคุณภาพของการบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ อย่างแท้จริง กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงาน ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 นี้ 3 ประเด็นหลัก คือ ประชาชนเชื่อมั่น เน้นให้ประชาชนดูแลตนเองเมื่อเจ็บป่วยด้วยยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 บริการเป็นเลิศ ประชาชนสามารถเลือกใช้บริการแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก เมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 และภูมิปัญญาสร้างคุณค่า คือ มูลค่าการบริโภคสมุนไพรในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านบาท
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในส่วนการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้วางแนวทางดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แก่ 1.วิเคราะห์และหารูปแบบการให้บริการประชาชนที่เหมาะสมร่วมกับสหวิชาชีพ 2.กำหนด Service Package ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ และจัดทำแนวปฏิบัติ (Guideline) ตามกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เช่น กลุ่มคนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs กลุ่มผู้ป่วยระยะกลาง และผู้ป่วยระยะประคับประคอง 3.กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการในแต่ละ รพ.สต. 4.ใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs และ 5.พัฒนาโปรแกรมในการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่เหมาะสมและสามารถเชื่อมต่อกับกระทรวงสาธารณสุขในอนาคต กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หวังว่าประชาชนที่อยู่ในชุมชน จะได้ประโยชน์ในการใช้บริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ คือ การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะร่วมสร้างสุขภาวะที่ดีแก่ประชาชนในระดับปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงหน่วยบริการระดับปฐมภูมิในทุกสังกัดสามารถให้บริการประชาชนด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง ทั่วประเทศต่อไป
ด้านนายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี และนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การถ่ายโอน รพ.สต. สู่การกำกับดูแลของ อบจ.นั้น การบริหารงบประมาณจะรวดเร็วและคล่องตัวขึ้น บุคลากรใน รพ.สต. มีโอกาสความก้าวหน้าในสายงานเพิ่มมากขึ้น ในตำแหน่งชำนาญการพิเศษ ทำให้เกิดความมั่นคงในอาชีพมากยิ่งขึ้น และยังตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับภาคประชาชน เชื่อมั่นได้ว่าทุก อบจ. จะทุ่มทุนทรัพย์อย่างเต็มที่ให้ รพ.สต.ทุกแห่ง ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ภายใน 3 ปี ส่งเสริมสนับสนุนการแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ บริการกัญชาทางการแพทย์ ส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เวชกิจฉุกเฉิน และเวชศาสตร์วิถีชีวิต ผลักดันให้มีการจัดสรรงบประมาณของ อบจ. เป็นทุนเพื่อผลิตแพทย์และบุคลากรด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ยกระดับการบริการสุขภาพปฐมภูมิทั่วประเทศ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่ Smart Primary Care ช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคประชาชนต่ออนามัยใกล้บ้าน และลดความแออัดการใช้บริการของโรงพยาบาลอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจภายในงานครั้งนี้ มีการอภิปราย หัวข้อระบบสนับสนุนการบริการประชาชนด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และการใช้สมุนไพรทางการแพทย์แผนไทย ให้แก่ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนให้แก่ อบจ.การอภิปรายหมู่ เรื่อง การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และสมุนไพรในหน่วยงานบริการสุขภาพปฐมภูมิ การบรรยาย เรื่อง ตำรับยาสมุนไพร และยาแผนไทยที่สามารถใช้ได้ใน รพ.สต.การบรรยาย เรื่อง การใช้น้ำมันกัญชาตำรับเมตตาโอสถและตำรับการุณย์โอสถ และการอภิปรายหมู่ เรื่อง ประสบการณ์การใช้นำมันกัญชาทางการแพทย์ ในกรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย เป็นต้น. -สำนักข่าวไทย