ขอนแก่น 30 พ.ย. – ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการวิจัย Circular X Creative Economy-แบบจําลองธุรกิจสําหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการจัดการ เศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปมะม่วง และเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่นๆ ใน จ.ขอนแก่น ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การคิดค้นนวัตกรรม มีกระบวนการนำวัสดุเหลือทิ้งต่าง ๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าแก่ธุรกิจ แทนที่การทิ้งเป็นขยะที่เปล่าประโยชน์ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญนี้ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดโครงการ R&D Boost Up เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบ ทีมผู้วิจัยได้มีโอกาสให้คำปรึกษาผู้ประกอบการมะม่วงแปรรูปภายใต้แบรนด์ เลดี้ศกุลตลา ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่ เทศบาลเมืองพล อ.พล จ.ขอนแก่น เลดี้ศกุลตลาอยู่ในธุรกิจมะม่วงแปรรูปมากว่า 50 ปี พบว่ากระบวนการผลิตมะม่วงแปรรูปสามารถนำส่วนเนื้อของมะม่วงไปใช้เท่านั้นโดยคิดเป็นสัดส่วน 50% ของทั้งลูก จึงทำให้เกิดเศษเหลือทิ้งจำนวนมหาศาลต่อปี เช่น เปลือก เมล็ด และผลสุกที่เน่าเสีย โดยส่วนเหลือทิ้งเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 50% ของปริมาณวัตถุดิบมะม่วงทั้งหมด เศษเหลือทิ้งเหล่านี้มีปริมาณรวมต่อปีประมาณ 30,000 กิโลกรัม คิดเป็นจำนวนเงินที่สูญเสีย 210,000 บาทต่อปี และเป็นค่าเสียโอกาสทางเศรษฐศาสตร์จำนวนมหาศาล
ดังนั้นโครงการนี้มีจุดประสงค์ เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจและสร้างการตระหนักรู้แก่สังคม เกี่ยวกับการบริหารจัดการเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมมะม่วงแปรรูป บนพื้นฐานความคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม
ทั้งนี้ หลังจากจบโครงการผู้ประกอบการจะได้รับการบ่มเพาะผ่านโครงการ Business Incubation โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมกับศูนย์ Sustainable Innovation and Society (SIS) ดำเนินการภายใต้วิทยาลัยนานาชาติ เป็นเวลา 1 ปี เพื่อเรียนรู้ระบบบริหารจัดการโมเดลธุรกิจแบบออนไลน์ที่สร้างขึ้น หลังจบจากโครงการ Business Incubation ศูนย์ SIS ยังคงร่วมบริหารจัดการธุรกิจกับบริษัทเลดี้ศกุลตลาต่อไปในลักษณะหุ้นส่วน โดยศูนย์ SIS สามารถจัดหาบุคลากร ทางด้านบริหารธุรกิจและดิจิทัล นักวิจัย และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาประจำศูนย์ เพื่อบริหารระบบไอที และห่วงโซ่อุปทานการของธุรกิจ การที่ศูนย์ SIS มีส่วนร่วมดูแลธุรกิจยังสามารถต่อยอดให้เกิดโมเดลการศึกษาแบบ Education Sandbox ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลธุรกิจและเรียนรู้บทเรียนชีวิตจริงในการทำธุรกิจดิจิทัลไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้โมเดลธุรกิจนี้เติบโตได้อย่างยั่งยืน. -สำนักข่าวไทย