กรุงเทพฯ 14 ธ.ค.-การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ).ระบุกระแสลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยยังดีต่อเนื่องในปีหน้า
พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานกรรมการกนอ. กล่าวในงานคล้ายวันสถาปนา กนอ.ครบรอบ 44 ปีว่า ทิศทางการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย ปี 2560 ยังดีต่อเนื่องและมีทิศทางที่ดีกว่าปีนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเดินทางโรดโชว์ต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นและจีน หลายบริษัทให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนรวมทั้งนักลงทุนในประเทศก็สนใจที่จะลงทุนด้วย โดยจะเป็นการเข้ามาลงทุนทั้งในนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดสระแก้ว บนพื้นที่ 600 ไร่ ที่จะเริ่มให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) รวมถึงอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ เข้าไปใช้บริการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้
นอกจากนี้ ตามที่รัฐบาลมีนโยบายประเทศไทย 4.0 กนอ. จึงเดินหน้ามุ่งสู่ กนอ. 4.0 ด้วย โดยตั้งแต่ปีงบ 60 จะเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ (ในช่วงปีงบประมาณ 60-64) เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ ในการเป็นองค์กรนำสร้างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสู่เศรษฐกิจอนาคต และมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็นองค์กรที่เป็นเลิศของอาเซียนในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ 4G+ Innovation สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไทยในภาพรวมและตามที่รัฐบาลมีนโยบายประเทศไทย 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 กนอ.จะลงทุนพัฒนาที่ดินเป็นนิคมอุตสาหรรมรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวม 57,000 ไร่ ในช่วง 20 ปีข้างหน้า ตามทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม 20 ปี(S-Curve) โดยจะทยอยพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปีละประมาณ 3,000 ไร่
นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า กนอ.เดินหน้าพัฒนาองค์กร มุ่งสู่ กนอ. 4.0 รองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยสร้างนิคมอุตสาหกรรมให้รองรับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปรับปรุงบริการของกนอ.โดยยึดเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พร้อมกับปรับแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการแก้ไขกฎหมายผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว ขณะนี้เรื่องอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่า จะสามารถนำเข้าสู่กาารพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในเดือนเมษายนปีหน้า ขณะเดียวกันยังพัฒนาบุคลากรให้สอดรับการเป็น กนอ. 4.0
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยภายใต้การดูแลของกนอ. ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนในการเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ สำหรับการทำการตลาดของกนอ.เน้นรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมประหยัดต้นทุน
ดังนั้นในปี 60 กนอ. จะลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมรวม 1,000 ล้านบาท โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล 600 ล้านบาท และงบของกนอ.อีกประมาณ 400 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว สะเดา และแม่สอด รวมถึงลงทุนในรับเบอร์ซิตี้ระยะที่ 1 ที่จะสามารถรองรับการเข้ามาลงทุนได้ในปีหน้า และพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมตามที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในสามเหลี่ยมภาคใต้ และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC ที่จะเข้ามาช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยมีความทันสมัย-สำนักข่าวไทย