กรุงเทพฯ 3 ต.ค.- กรมวิชาการเกษตรจัดงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 50 ปี “รมช.มนัญญา” ชื่นชมผลงานที่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรและมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรไทย อธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงนาม MOU กับ 2 หน่วยงาน ด้านการวิจัยและพัฒนากัญชง กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และก๊าซลดก๊าซเรือนกระจก
วันนี้เป็นวันคล้ายวันสถานปนาของกรมวิชาการเกษตร ครบรอบ 50 ปี โดยผู้บริหารและข้าราชการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณหน้าตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร แขวงจตุจักร จากนั้นพิธีเจริญพระพุทธมนต์พระสงฆ์ 9 รูปและถวายภัตตาหาร
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อ่านสารแสดงความยินดีในโอกาสกรมวิชาการเกษตรครบรอบ 50 ปี โดยระบุว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2515 ช่วง 50 ปีที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรมีผลงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีต่างๆ มากมายที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร รวมทั้งแก้ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชระบาดทำความเสียหายให้กับผลผลิตพืช ควบคุมดูแลคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรทั้งส่งออกและนำเข้า ตลอดจนขับเคลื่อนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 250 โครงการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
สำหรับนโยบายในการดำเนินงานจากนี้ไป ให้สานต่อการขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิต โดยการใช้ระบบการตลาดนำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ รวมถึงการแก้ปัญหาการส่งออกสินค้าผลไม้ไปต่างประเทศจนทำให้ประเทศไทย จากที่ไทยสามารถรักษาแชมป์การส่งออกอันดับ 1 ในตลาดประเทศจีนไว้ได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการยกระดับมาตรฐานการผลิตเพื่อพัฒนาผลผลิตพืชให้มีคุณภาพและปลอดภัย ทั้งเกษตรอินทรีย์และมาตรฐาน GAP ที่จะทำให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้าได้ในราคาสูงขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารปลอดภัย โดยจะนำเสนอต่อรัฐบาลให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมินแปลงเพื่อขอรับมาตรฐาน GAP เพื่อช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร
จากนั้นนางสาวมนัญญาเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับ 2 หน่วยงาน ได้แก่ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในการประเมินคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตร ตามนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนเศรษฐกิจสีเขียว BCG (Bio-Circular-Green Economy) ให้เป็นกลไกที่สำคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะนำไปสู่การพัฒนา ระบบการปลูกพืชและการผลิตสินค้าเกษตร และการจัดระเบียบวิธีในการประเมินโครงการในการที่จะเข้าร่วมประเมินคาร์บอนเครดิต และพัฒนางานวิจัยด้านการเก็บข้อมูลคาร์บอนเครดิตร่วมกันได้อีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด CDM (Clean Development Mechanism) การใช้คาร์บอนฟุตปริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่เป็นประเด็นสำคัญในการส่งออกสินค้าเข้าสู่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
ต่อมาอธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงนามกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการร่วมกันวิจัย พัฒนา และทดสอบสายพันธุ์กัญชา สายพันธุ์ “เพชรชมพู 1-5” ซึ่งกัญชาทั้ง 5 สายพันธุ์มีลักษณะดี ปริมาณสารสำคัญ THC เด่น ทำให้ง่ายต่อการสกัดและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการปลูก การควบคุมป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยชีวภัณฑ์ เพื่อให้ได้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับใช้ทางการแพทย์ โดยจะทดลองในสัตว์และมนุษย์ต่อไป ซึ่งทางศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ มีความเชี่ยวชาญเรื่องยาเสพติด เป็นศูนย์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และเพื่อก้าวเป็นผู้นำความเป็นเลิศทางวิชาการของเอเชีย อันจะสามารถยกระดับการพัฒนาวิจัยพืชกัญชา กัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ให้กับประชาชนทุกระดับ ทั้งเกษตรกร ประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจทุกประเภทเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและรายได้ให้แก่ประเทศต่อไป
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรดำเนินงานตอบสนองนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีเป้าหมายให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ในงานวันคล้ายวันสถาปนานี้ กรมวิชาการเกษตรได้นำผลงานวิจัยส่วนหนึ่งที่นำไปใช้แก้ปัญหาให้เกษตรกรและพัฒนาการผลิตภาคการเกษตรมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ ได้แก่
– การพัฒนาและขยายผลปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์เพื่อการผลิตพืชอินทรีย์อย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทราได้ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
– การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพจากหอมแดง งานวิจัยนี้ได้สกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากหอมแดง นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่หอมแดง พร้อมทั้งขยายผลเทคโนโลยีให้แก่กลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกหอมแดงในจังหวัดศรีสะเกษ และกลุ่มวิสาหกิจการเกษตรศรีสะเกษแฟร์เทรด วางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เป็นการขยายตลาดการค้าของผลิตภัณฑ์จากหอมแดง
– การเพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับลำไยสดส่งออกไปจีน ภายใต้ พ.ร.บ.กักพืช กรมวิชาการเกษตรได้รับการแจ้งเตือนจากจีนกรณีการปนเปื้อนของแมลงศัตรูพืชที่ติดไปกับลำไยส่งออกจึงได้จัดทำมาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการปนเปื้อนของแมลงศัตรูพืช ณ โรงคัดบรรจุ โดยแบ่งการจัดการเป็น2 ส่วน คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ และผู้ประกอบการ ผลจากการดำเนินการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและรับรองสุขอนามัยพืชลำไยสดส่งออกไปจีน ทำให้จีนยอมรับในมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกลำไยผลสดไปจีนได้ต่อไป
– ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยปรับปรุงพันธุ์ถั่วเขียวให้มีผลผลิตสูง คุณภาพดีเหมาะสำหรับการแปรรูป จนได้ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 ให้ผลผลิตสูง 232 กิโลกรัมต่อไร่ ขนาดเมล็ดใหญ่ เหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก เกษตรกรนำไปปลูกในพื้นที่รวม 83,700 ไร่ ได้ผลผลิตถั่วเขียว 11,878 ตัน สร้างรายได้ รวมมูลค่า 297 ล้านบาท ส่งผลให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองและเสริมสร้างระบบการผลิตที่ยั่งยืน
– การพัฒนาเครื่องพ่นสารป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดแบบอุโมงค์ลม เนื่องจากเกิดปัญหาหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดระบาดมากกว่า 500,000 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 3,400 ล้านบาท กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาเครื่องพ่นสารแบบอุโมงค์ลมที่ใช้แรงลมความเร็วสูงช่วยทำให้ละอองสารตกสู่เป้าหมาย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด และประหยัดสารควบคุมศัตรูพืชได้มากกว่า 20% ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยพบเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีผลต่อการตายของตัวอ่อนไส้เดือนฝอยรากปม ซึ่งเป็นระยะสำคัญที่ก่อให้พืชเป็นโรครากปม นอกจากนี้ในเส้นใยของเห็ดเรืองแสงยังมีสารออกฤทธิ์อื่นๆ สามารถใช้ควบคุมโรครากปมที่มีสาเหตุจากไส้เดือนฝอยรากปมที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับพืช เช่น ฝรั่ง พริก มะเขือเทศ มะละกอ กล้วย มันสำปะหลัง และพืชในวงศ์ผักชี
– แอปพลิเคชันวินิจฉัยโรคบนใบมันสำปะหลัง งานวิจัยนี้ได้ประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ มาเป็นเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์เชิงลึกร่วมกับเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาโมเดลการจำแนกโรคที่แสดงบนใบมันสำปะหลัง พร้อมจัดทำเป็นระบบและคำแนะนำที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงผู้ใช้งานได้อย่างแพร่หลาย เป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีให้แก่เกษตรกร ซึ่งการวินิจฉัยอาการจากโรคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ ได้เบื้องต้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยให้การปลูกมันสำปะหลังมีคุณภาพ
– ผลิตภัณฑ์สารสกัดพืช สะเดา+หางไหล และว่านน้ำ+หางไหล นาโนเทคโนโลยี ป้องกันกำจัดแมลงในพืชตระกูลกะหล่ำ งานวิจัยนี้ได้นำสารสกัดจากพืชมาผสมรวมกันเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป สูตรผสมสะเดา+หางไหล และว่านน้ำ+หางไหล เพื่อเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ร่วมกับการนำนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพิ่มประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ของสารให้ได้ผลที่ดียิ่งขึ้น สนับสนุนนโยบายลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรยังได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอีกมากตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา โดยได้ถ่ายทอดไปสู่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ก้าวไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน.- สำนักข่าวไทย