กรุงเทพฯ 19 ก.ย.- ก.พลังงาน เร่งแผนลดพึ่งพาแอลเอ็นจี ลดค่าไฟแพง ทั้งใช้ดีเซลทดแทน ซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่ม เข็นแผนพีดีพีใหม่ เน้นพลังงานทดแทนบวกแบตฯ สำรอง กกพ. เตรียมประกาศรับซื้อพลังงานทดแทนปลายปี ไม่ต่ำกว่า 3 พันเมกะวัตต์ ส่วน พพ. ประเมินสิ้นปี 80 ไทยมีพลังงานทดแทน 18.45 ล้านเมกะวัตต์
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเร็วๆ นี้ พิจารณาแผนฉุกเฉินด้านพลังงาน เพื่อรองรับสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จะปรับสูงขึ้นในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวในปลายปีนี้ ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2565 เพื่อลดผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าในช่วงปลายปี โดยแผนสำรองนั้นจะต้องหาเชื้อเพลิงอื่นทดแทนแอลเอ็นจีให้มากที่สุด เช่น เสนอพิจารณาเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะเพิ่มเติม จากเดิมโรงที่ 8 ก็เพิ่มโรงที่ 4 ขนาดกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ เจรจาขอซื้อเพิ่มเติมในส่วนของก๊าซฯ จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) และไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป ลาว รวมถึงใช้ดีเซลเดินเครื่องโรงไฟฟ้าให้มากที่สุด
ส่วนการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้น จะมีการประชุมบอร์ด EV ในเร็วๆ นี้ เพื่อพิจารณาเรื่องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพราะแบตเตอรี่ถือเป็นต้นทุนราว 40% ของรถ EV ซึ่งจะเป็นการออกมาตรการส่งเสริมครบวงจรตั้งแต่การตั้งโรงงานผลิตฯ ไปจนถึงการทำลายแบตเตอรี่ รวมถึงเรื่องของการชาร์จไฟฟ้าด้วย
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่ (PDP 2022) ระหว่างปี 2565-2580 ซึ่งจะอยู่ภายใต้หลักการสำคัญ ทั้งเน้นความมั่นคง ระบบผลิตไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ที่จะปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลไปสู่พลังงานทดแทน ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยจำกัดปริมาณการปลดปล่อย CO2 ให้สอดคล้องตามเป้าหมายแผน Carbon neutrality และ Net zero emission และการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้าและด้านการใช้ไฟฟ้า โดยมีการนำเทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด และ GREEN TARRIFT รองรับการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานทดแทนโดยตรงจากผู้ซื้อและผู้ขาย
สำหรับแผน PDP 2022 คืบหน้าแล้ว 80% ซึ่งมีการจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศใหม่ ภายใต้สมมติฐานที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น จำนวนประชากร อัตราขยายตัว GDP ที่ลดลงเหลือประมาณ 3% ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั้งจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (HST) รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพ/ปริมณฑล และใน 6 เมืองหลัก (MRT) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือนโยบาย 30@30 รวมถึงการปรับแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ที่เพิ่มเป้าหมายเป็น 40% จากเดิม 30% ตลอดจนสมมติฐานผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) และการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS)
ขณะที่ด้านเทคนิคได้พิจารณาเรื่องเกณฑ์ความมั่นคง (LOLE) ที่ไม่ได้คำนึงถึงสำรองไฟฟ้า แต่ดูเรื่องไฟฟ้าไม่ดับในอัตรา 0.7 วัน/ปี ข้อมูลโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันแล้วในปัจจุบัน ศักยภาพสายส่งไฟฟ้าระบบภูมิภาค ตลอดจนประเภทของโรงไฟฟ้า เทคโนโลยีทางเลือกที่จะนำมาพิจารณาในแผน เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซฯ จะต้องมีไฮโดนเจน เข้ามาร่วมในสัดส่วนประมาณ 20% เป็นต้น
“ตอนนี้ PDP Action Plan 2022 ก็เตรียมไว้ 3-4 ทางเลือก เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาในเดือน ต.ค.นี้ และเสนอ กพช. ในช่วงปลายปี ก่อนเริ่มใช้ในปีหน้า มุ่งไปสู่การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ให้มากกว่า 50% เพื่อตอบโจทย์ Carbon neutrality ในปี ค.ศ. 2050” นายวัฒนพงษ์ กล่าว
ในปัจจุบันประเทศไทยมีการปลดปล่อยคาร์บอนราว 300 ล้านตันต่อปี ในส่วนนี้เป็นภาคพลังงาน 64% ส่วนนี้แยกเป็นส่วนของการผลิตไฟฟ้า 36% ภาคขนส่ง 28% การจะไปสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ จะต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในแผน PDP ฉบับเดิม (PDP 2018 Rev.1) ปี 2561-2580 ได้เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ระยะสั้น 10 ปี (2565-2573) ประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ คาดว่าภายในปีนี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า โครงการโซลาร์ฟาร์ม ประมาณ 2,300 เมกะวัตต์ โซลาร์ฯ+ แบตเตอรี่ (ESS) ประมาณ1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานลม
ในขณะที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ประเมินว่า ช่วงปี 2574-2580 ศักยภาพพลังงานหมุนเวียนของไทยจะมีรวม 18.45 ล้านเมกะวัตต์ .-สำนักข่าวไทย