กรุงเทพฯ 19 ก.ย.-รมว.พลังงานเผย เร่งเจรจา พื้นที่ปิโตรเลียมคาบเกี่ยว ไทย-กัมพูชา ตั้งเป้า 10 ปีนำขึ้นมาใช้ยืนยันเร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เตรียมแผนพึ่งพาแอลเอ็นจีให้ต่ำสุด ต.ค.-ธ.ค.นี้
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงพลังงานและกระทรวงต่างประเทศ ได้เร่งเจรจากับกับพูชา เพื่อเร่งพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมคาบเกี่ยวระหว่างกัน เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยเร็วทั้ง 2 ประเทศ โดย หากเห็นชอบร่วมกัน ก็จะมีการเปิดให้ยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และตั้งเป้าหมายให้เกิดการผลิตได้ภายใน 10 ปี นับว่ารวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่พัฒนาปิโตรเลียมร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ที่ใช้เวลานานถึง 25 ปี
“ไทยและกัมพูชา จะเร่งเจรจาเพื่อนำปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างรวดเร็ว และจะเร่งแก้ปัญหาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลง จนไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจำนวนมาก ในขณะที่ไทยก็มีการเปิดสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในประเทศแหล่งใหม่ และยังีความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
รมว.พลังงาน ยังกล่าวด้วยว่า จากที่ปีนี้ค่าไฟฟ้าแพง ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการพึ่งพาก๊าซแอลเอ็นจีที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ของก๊าซฯที่นำมาผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และปีนี้ ราคาแอลเอ็นจีแพงขึ้นมาก จากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน และยิ่งหน้าหนาวนี้ ต.ค.-ธ.ค. 65 ก็ยิ่งคาดว่าราคาจะแพงยิ่งขึ้นจากที่ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 41 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู โดย กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ประชุมทุกวันเพื่อแก้ปัญหานี้ เช่น การหาเชื้อเพลิงอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดีเซล และยืดระยะเวลาปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะบางโรงออกไป โดยเน้นย้ำเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย รวมไปถึงการใช้พลังงานทดแทนในประเทศ เพิ่มขึ้น .-สำนักข่าวไทย