กรุงเทพฯ 17 ก.ย.-สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จัดประชุมประชาพิจารณ์ต่อร่างมาตรฐานอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กล่าวภายหลังเป็นประธานในการจัดประชุมประชาพิจารณ์รับฟังข้อคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร เพื่อยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับให้เทียบเท่าระดับสากล
ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำมาตรฐาน อาทิ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สมาคมค้าทองคำ สมาคมช่างทองไทย สมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมการท่องเที่ยว ผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ
อย่างไรก็ตาม การจัดการประชุมประชาพิจารณ์ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำร่างมาตรฐานด้านอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า แบ่งเป็นมาตรฐานด้านอัญมณี ได้แก่ มาตรฐานคอรันดัม จำนวน 2 ขอบข่าย มาตรฐานเพชรสังเคราะห์ จำนวน 2 ขอบข่าย และมาตรฐานโลหะมีค่า จำนวน 1 ขอบข่าย โดยมีผู้ร่วมแสดงข้อคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ นอกจากห้องปฎิบัตินี้แล้ว ทาง GIT เปิดโอกาสให้ห้องปฏิบัติการขนาดเล็กสามารถพัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์/ทดสอบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปใช้เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยจะครอบคลุม 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านมาตรฐานวิธีวิเคราะห์และทดสอบอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านมาตรฐานวิธีวิเคราะห์และทดสอบโลหะมีค่า ด้านมาตรฐานหลักเกณฑ์ GIT และด้านมาตรฐานบุคลากรของห้องปฏิบัติการ ซึ่งการจัดทำมาตรฐานสถาบันได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำมาตรฐาน อาทิ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สมาคมค้าทองคำ สมาคมช่างทองไทย สมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการท่องเที่ยว ผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ
อย่างไรก็ตาม การจัดทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนผ่านช่องทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊คของสถาบัน และมีผู้เข้าร่วมฟังการแสดงข้อคิดเห็นผ่านทุกช่องทางมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีคณะกรรมการวิชาการได้นำข้อคิดเห็นจากเวทีและช่องทางต่างๆ จนได้ GIT Standard เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบ อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า และมาตรฐานด้านหลักเกณฑ์ จำนวน 22 ขอบข่าย และมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านเกณฑ์ขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับภายใต้มาตรฐาน GIT Standard ทั้งภาครัฐ และ เอกชน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ห้องปฏิบัติการอัญมณี คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา ห้องปฏิบัติการ บริษัท เอ็มทีเอส รีไฟเนอรี่ แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ห้องปฏิบัติการ บริษัท พรีเชียส พลัส จำกัดห้องปฏิบัติการ บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด ห้องปฏิบัติการ บริษัท จีซีไอ แล็บ จำกัดเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย