สธ. 13 ก.ย.- ปลัด สธ.เผยยังไม่มีสถานพยาบาลใดได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง แต่สั่งการไว้เตรียมพร้อมรับมือ ทั้งสำรองยาเวชภัณฑ์และงบฯ ฉุกเฉิน โดยปมน้ำท่วมขังในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ก่อให้เกิดความเครียดระยะสั้น คนอาจห่วงรถหรือทรัพย์สิน และไม่เท่าปี 54 ที่พบคนเครียดถึง 10% พร้อมย้ำสถานการณ์น้ำปัจจุบันเป็นน้ำรอระบายจากน้ำฝน
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานพยาบาลและสุขภาพใจของประชาชน ว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยข้อมูลของกรมชลประทาน พบว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีการระบายขณะนี้อยู่ที่ 1,800 ลบ.ม./วินาที ยังไม่มีสถานพยาบาลใดที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบ แต่หากมีการระบายน้ำลงมา 1,900 ลบ.ม./วินาที อาจได้รับผลกระทบ จึงได้มีการเตรียมวางไว้ ในสถานพยาบาลที่มีความเสี่ยง ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ทั้ง รพ.อ่างทอง, รพ.ชัยนาท และ รพ.สิงห์บุรี, รพ.อุทัยธานี รวมถึง รพ.มหาราช จ.นครราชสีมา ทั้งนี้ เตรียมงบกลางไว้ 10 ล้านบาท สำหรับใช้ในภาวะฉุกเฉินร่วมกับจังหวัด และสำรองยาและเวชภัณฑ์ไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามจากการประเมินสถานการณ์คาดว่าผลกระทบจากสถานการณ์น้ำ เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงเท่าปี 2554 ที่ต้องเผชิญกับ 3 น้ำด้วยกัน ทั้งน้ำเหนือ น้ำหนุน และน้ำฝน โดยสถานการณ์ปัจจุบันในปี 2565 เป็นเพียงสถานการณ์น้ำฝนที่ตกลงมาเท่านั้น
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำฝนที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่นี้ เป็นน้ำรอระบาย ไม่ได้ค้างหรือนานแรมเดือน เหมือนปี 2554 ซึ่งในส่วนของสภาวะจิตใจที่ได้รับผลกระทบล้วนแตกต่างกัน โดยน้ำฝนที่ท่วมขังในปัจจุบัน อาจก่อให้เกิดความเครียดแบบชั่วคราว และก่อให้เกิดผลเสียหายกับทรัพย์สิน แต่ไม่ได้ทำให้คนเครียดเหมือนตอนปี 54 ที่เพิ่งเผชิญกับน้ำครั้งแรก ที่พบคนเกิดความเครียดและได้รับผลกระทบราว 10% ทำให้บทเรียนจากปี 54 ครั้งนี้ บางคนอาจบ่นบ้าง แต่ก็เชื่อว่าจะผ่านไปได้ ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งแก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุด พร้อมแนะนำให้คนเราต้องปรับตัว เครียดได้บ่นได้ แต่ต้องพยายามเอาตัวเองออกจากวิกฤติ เช่น รู้ว่ามีน้ำท่วมกันอาจเปลี่ยนเส้นทางจราจรหรือหันมาใช้รถขนส่งสาธารณะแทน เพื่อป้องกันรถยนต์ ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินราคาแพงได้รับความเสียหาย เพราะแม้แต่ตนเองล่าสุดก็เผชิญกับสถานการณ์รถยนต์ส่วนตัวจมน้ำเสียหายเช่นกัน ดังนั้นเครียดได้ บ่นได้ แต่ต้องมีสติ
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯ หรือปริมณฑลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนี้ เป็นเพียงความเครียดระยะสั้น ไม่ถึงขั้นวิตกกังวล หรือแพนิคเป็นโรค เพียงแต่เรื่องนี้ต้องรู้สึกพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เมื่อเกิดความเครียดกับสถานการณ์ฝนตกแบบนี้ ดังนั้นเมื่อรู้ว่าจะมีฝนก็ควรมีการวางแผนจัดการสิ่งของ หรือวางแผนการเดินทาง และที่สำคัญต้องเลือกรับข่าวสารเฉพาะหน่วยที่รับผิดชอบโดยตรง ไม่ควรที่จะรับข่าวสารอื่นที่เกินจำเป็น เพื่อป้องกันความเครียดสะสม เกิดอาการนอนไม่หลับ กังวล ได้ เช่น เลือกรับข่าวสารทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน สำนักงานเขต หรือพื้นที่ที่ตนเองอยู่ และจำหมายเลขหรือช่องทางติดต่อ หากเกิดผลกระทบจะได้ขอความช่วยเหลือ. -สำนักข่าวไทย