นนทบุรี 14 เม.ย. – พาณิชย์ปลื้มสหรัฐประเมินไทยด้าน IP Index ดีขึ้น แต่ทุกหน่วยงานยังต้องคุมเข้มการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรณีสภาหอการค้าสหรัฐ (U.S. Chamber of Commerce) โดยศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาโลก (Global Intellectual Property Center: GIPC) เผยแพร่ผลการจัดอันดับด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่มีผลต่อนวัตกรรม (IP Index) ประจำปี 2560 จัดให้ไทยอยู่จัดอันดับที่ 40 จากประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 45 ประเทศ โดยไทยได้คะแนน 9.35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 35 คะแนน ซึ่งถือว่าปีนี้ไทยได้คะแนนประเมินเป็นร้อยละดีกว่าปี 2559 (จากร้อยละ 25 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 27 ในปี 2560) นั้น มาจากการที่ GIPC ตระหนักถึงพัฒนาการของไทยด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และความโปร่งใสการดำเนินมาตรการด้านศุลกากร อีกทั้งเห็นว่าไทยมีจุดแข็ง เช่น ด้านมาตรฐานการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตรการออกแบบ การกำหนดระยะเวลาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และการไม่มีข้อจำกัดในเรื่องการใช้ประโยชน์จากตราสินค้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทางกรมฯ เห็นว่าไทยน่าจะได้รับการจัดอันดับดีกว่านี้ หาก GIPC ได้รับฟังข้อมูลและความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน และมีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนกว่านี้ เช่น การบังคับใช้กฎหมาย GIPC ระบุว่าไทยยังไม่มีกฎหมายสกัดกั้นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่ระหว่างการผ่านแดน (transit) และสินค้าถ่ายลำเรือ (transshipment) ซึ่งเป็นเรื่องที่ GIPC เข้าใจผิด เพราะไทยแก้ไข พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจกักสินค้าผ่านแดนและถ่ายลำเรือ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี 2558 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญามีหนังสือแจ้งสภาหอการค้าสหรัฐในประเทศไทยและสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยทราบความเข้าใจผิดดังกล่าวแล้ว
นอกจากนี้ GIPC กำหนดตัวชี้วัดบางรายการสูงกว่ามาตรฐานสากลตามความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS Agreement) ขององค์การการค้าโลก (WTO) เช่น การชดเชยระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลการทดสอบยา และการเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ เป็นต้น ทำให้ไทยได้คะแนนต่ำบางหัวข้อ ที่ผ่านมาไทยให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังกำหนดแผนที่นำทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Roadmap) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยการปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาหลายด้าน ได้แก่ การส่งเสริมการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา การเพิ่มประสิทธิภาพในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนการส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาที่จะช่วยสร้างขีดสมรรถนะในการแข่งขันของไทย คือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม นโยบายทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ประกอบกับตัวชี้วัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ GIPC เป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงานและจำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) กระทรวงยุติธรรม (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบนโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้รายงานผลการจัดอันดับของ GIPC ต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งทันทีที่ได้รับทราบรายงานฯ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาข้อกังวลของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย