กรุงเทพฯ 29 ส.ค.- อธิบดีกรมชลประทานสั่งช่วยระบายน้ำกรุงเทพฯ -ปริมณฑลจากฝนที่ตกต่อเนื่องในระยะนี้ ย้ำคลองที่เชื่อมต่อกับคลองของกรุงเทพฯ รวมถึงคลองชายทะเลต้องพร่องน้ำรอ แล้วใช้ประตูระบายน้ำของกรมชลประทานช่วยสูบระบายน้ำออกอ่าวไทย ขณะที่เร่งระบายน้ำเหนือผ่านเขื่อนเจ้าพระยาและป่าสัก โดยจะทยอยปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเป็นอัตรา 1,800 เพื่อรองรับน้ำจากฝนที่จะตกเพิ่มในต้นเดือนก.ย. นี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างพร้อมช่วยระบายน้ำกรุงเทพฯ และปริมณฑลเนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องในระยะนี้ ขณะที่ยังจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำเหนือออกทะเลด้วยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับผลกระทบจึงให้คลองที่เชื่อมต่อกับคลองของกรุงเทพฯ พร่องน้ำรอรับน้ำจากฝนที่ตกเพิ่ม
ทั้งนี้ย้ำให้เตรียมเส้นทางระบายให้พร้อมทุกเส้นทาง โดยคลองแนวตะวันออกไปตะวันตกจะรับน้ำจากคลองแสนแสบออกคลองบางขนาก คลองหกวาสายล่าง คลองประเวศบุรีรมย์ ต่อไปยังคลองสำโรง แล้วสูบออกแม่น้ำบางปะกงที่จ. ฉะเชิงเทราเพื่อระบายออกทะเล ขณะเดียวกันสูบน้ำออกจากคลองชายทะเลให้ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ควบคุมเพื่อพร่องน้ำคลองชายทะเลให้พร้อมรองรับน้ำจากคลองแนวตั้ง ตั้งแต่คลองระพีพัฒน์ที่ตัดออกทางคลองรังสิตประยูรศักดิ์ แล้วออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและบางปะกงตามลำดับ นอกจากนี้น้ำจากกรุงเทพฯ จะไหลอีกเส้นทางหนึ่งลงสู่คลองสิบสาม ต่อไปยังคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต สู่คลองชายทะเลแล้วระบายออกอ่าวไทย พร้อมกำชับให้เตรียมประตูระบายน้ำและระบบชลประทานที่มีจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่กรุงเทพฯ ให้พร้อม หากมีน้ำท่วมขังจากฝนที่ตกในพื้นที่ ให้สูบระบายน้ำช่วยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ส่วนการระบายน้ำเหนือได้เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เนื่องจากกอนช. คาดการณ์สภาพอากาศว่า ในช่วงวันที่ 29 ส.ค. – 31 ส.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จากนั้นระหว่างวันที่ 1 ส.ค. –3 ก.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้จึงต้องพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำจากฝนที่จะตกลงมาใหม่
สำหรับสถานการณ์น้ำเหนือที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จ. นครสวรรค์วันนี้เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ที่ 1,648 ลบ.ม./วินาทีเป็น 1,678 ลบ.ม./วินาทีทำให้จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นเล็กน้อยจากเมื่อวานนี้ที่ 1,500 ลบ.ม./วินาทีเป็น 1,579 ลบ.ม./วินาที โดยมีแนวโน้มจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็นอัตรา 1,800 ลบ.ม./วินาที
ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังระบายคงที่ในอัตรา 430 ลบ.ม./วินาที เป็นการชะลอน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากน้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะไหลต่อมายังเขื่อนพระรามหกที่อ. ท่าเรือ จ. พระนครศรีอยุธยา แล้วบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดพนัญเชิง อ. พระนครศรีอยุธยา โดยวันนี้น้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตรา 545.95 ลบ.ม./วินาทีซึ่งจะควบคุมไม่ให้เกิน 600 ลบ.ม./วินาที เพื่อไม่ให้กระทบต่อเขตเทศบาลพระนครศรีอยุธยา.-สำนักข่าวไทย