กรุงเทพฯ 23 ส.ค. – อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มองกระบวนการพิจารณาหลังส่งคำร้องปมวาระนายกฯ 8 ปี หลังจากยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องใช้เวลาพอสมควร โดยถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา กรอบเวลาในการวินิจฉัยคดีจะอยู่ในช่วงปลายเดือน ก.ย.
นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกับสำนักข่าวไทย อสมท ถึงกระบวนการหลังประธานรัฐสภาส่งคำร้องวาระนายกรัฐมนตรี 8 ปี ให้ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า เจ้าหน้าที่จะรับเรื่องไว้ตรวจสอบความเรียบร้อยเบื้องต้น จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับคำร้องในวันพรุ่งนี้ (24 ส.ค.65) เวลา 10.00 น.
เมื่อพิจารณาคำร้องแล้ว มีแนวทางสั่งคดีใน 3 ทาง คือ
- รับคำร้องไว้พิจารณา สั่งให้ผู้ถูกร้อง คือ นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่
- รับคำร้องไว้พิจารณา นายกรัฐมนตรีไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
- ยกคำร้องของผู้ร้อง เพราะไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตาม 2 แนวทางแรก ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องทำคำโต้แย้งคัดค้านตามสิทธิ โดยมีระยะเวลา 7 วัน
จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิเรียก กกต. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ บันทึกเจตนารมณ์ของกฎหมายมาพิจารณา มีระยะเวลาในการเรียกเอกสารและบุคคลมาให้ข้อมูลกับศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเวลา 2 สัปดาห์
จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญโดยองค์คณะตุลาการ 9 คน จะประชุมกันอย่างน้อย 1-2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ เพื่อพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายให้ครอบคลุมทุกด้าน
หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 สัปดาห์ จะนัดประชุมเพื่อลงมติวินิจฉัย และแจ้งผลการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการกลับไปให้ประธานรัฐสภา ซึ่งเมื่อดูระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ช่วงเวลาในการตัดสินคดีจะอยู่ในช่วงปลายเดือนกันยายน
โดยระยะเวลาในการพิจารณาคดี หลังจากมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 170 วรรคสอง หรือไม่ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคดีไว้ ซึ่งแตกต่างจากคดีประเภทอื่นที่กำหนดเวลาไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ. – สำนักข่าวไทย